ความจริงอีกด้านของกบฏ ร.ศ. 130 ตีแผ่เรื่องบิดเบือนกล่าวหา รัชกาลที่ 6
กบฏคณะ ร.ศ. 130 ถูกจับกุมช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 จากการที่นายทหารชั้นร้อยโทผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อการเกิดความเกรงกลัวพระราชอาญา จึงนำรายชื่อนายทหารผู้ร่วมก่อการทั้ง 30 คน ไปถวายสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ โดยขณะนั้นคณะผู้ก่อการกบฏเพิ่งร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน ยังไม่ทันได้ลงมือก่อการ
กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้เสด็จโดยรถไฟขบวนพิเศษจากกรุงเทพฯ มายังพระราชวังสนามจันทร์ เพื่อกราบทูลเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ให้ในหลวง ร.6 ทรงทราบ ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงประทับอยู่ที่นครปฐม เพื่อทรงนำเสือป่าและลูกเสือไปฝึกซ้อมยุทธวิธี
เมื่อกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถกราบถวายบังคมลาเสด็จกลับกรุงเทพฯ แล้ว ก็ได้มีการจับกุมคณะนายทหารที่คิดกบฏทั้งหมดไว้ 30 คน จากนั้นได้มีการขยายผลจับกุมนายทหารบก นายทหารเรือ และข้าราชการกระทรวงยุติธรรมเพิ่มเติมอีกหลายสิบคน
ขณะนั้นในหลวง ร.6 ยังทรงประทับแรมที่พระราชวังสนามจันทร์ต่อถึงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2454 เวลาบ่าย 4 โมง จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพิเศษ มาประทับยังพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ต่อมาได้มีงานพระราชพิธีเถลิงศก ต่อด้วยการพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2455 หลังเสร็จงานพระราชพิธีก็ได้มีการเปิดประชุมเสนาบดีสภา ซึ่งพระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) ได้บันทึกไว้ว่า ในหลวง ร.6 ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงเรื่องที่จะทรงมอบสิทธิการปกครองให้ประชาชนเพื่อปกครองตนเอง อย่างที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ตามที่คณะผู้ก่อการได้หยิบยกขึ้นเป็นข้ออ้างในการก่อกบฏ ร.ศ. 130
หลังจากที่ในหลวง ร.6 ทรงพระราชดำรัสจบแล้ว จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จเรทหารทั่วไปในฐานะเสนาบดีอาวุโส ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาแทนคณะเสนาบดีว่า ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร เพราะว่าพลเมืองยังเข้าถึงการศึกษาไม่เพียงพอ การปกครองแบบประชาธิปไตยในขณะที่ยังไม่พร้อมอาจจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี จึงกราบบังคมทูลคัดค้าน
และในหลวง ร.6 ทรงเห็นจริงตามที่ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กราบบังคมทูล จึงมีพระราชดำรัสตอบขอบพระทัย และจากนั้นจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งรัดจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2456 ซึ่งมีการจัดแผนการศึกษาแห่งชาติเป็นระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ไปจัดการขยายการศึกษาให้แพร่หลาย ให้มีโรงเรียนประชาบาลครบทุกตำบลภายใน 15 ปี นับแต่เสด็จเสวยสิริราชสมบัติ เพื่อที่จะได้พระราชทานการปกครองท้องถิ่นให้กับประชาชน เป็นการวางรากฐานไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาต่อไป
นอกจากข้ออ้างเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยของคณะกบฏ ร.ศ. 130 แล้ว ยังมีสาเหตุอีกประการที่คณะผู้ก่อการมุ่งประทุษร้ายต่อในหลวง ร.6 นั่นคือ ความไม่พอใจที่ทหารถูกหมิ่นเกียรติ โดยเฉพาะเรื่องการเฆี่ยนหลังตามจารีตนครบาลในปลายรัชสมัยของในหลวง ร.5 เมื่อปี พ.ศ. 2452
เหตุการณ์นี้ ศาสตราจารย์แถมสุข นุ่มนนท์ ทายาทคนหนึ่งของร้อยตรีถัด รัตนพันธุ์ หนึ่งในคณะผู้ก่อการผู้ต้องโทษจำคุก 20 ปี ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ.130” ว่า มีนายทหารมหาดเล็กรุมตีนายดาบกรมทหารราบ 2 นาย แล้วนายดาบกรมทหารราบได้พาพวกจากกรม ออกไปไล่ตีทหารมหาดเล็กจนถึงหน้าวังปารุกส์ ในหลวง ร.6 ซึ่งในขณะนั้นยังทรงดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ทรงทราบ จึงรับสั่งให้ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 ทำการสอบสวน และนำความขึ้นกราบบังคมทูลในหลวง ร.5 ให้ลงโทษด้วยการเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้น
และหนังสือ “ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ.130” ยังใส่ความเห็นด้วยว่า “ในเวลาต่อมาการลงโทษด้วยการเฆี่ยนหลังเป็นพระราชนิยมอย่างหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” และได้ยกตัวอย่างหลวงรักษานารถ ที่ถูกเฆี่ยน 30 ที แล้วถูกถอดยศก่อนนำไปขังคุกเป็นเวลา 1 ปี
แต่เมื่อนำข้อมูลในหนังสือ “ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ.130” มาตรวจสอบกับหลักฐานสำคัญคือ “หนังสือยุทธโกษ” ซึ่งเป็นนิตยสารของทหาร และ “ประกาศถอดยศนายทหาร ที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ปรากฏว่าข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม หลักฐานทั้งสองฉบับนี้ต่างระบุตรงกันว่าทหารเป็นฝ่ายทำร้ายมหาดเล็ก ไม่ใช่มหาดเล็กทำร้ายทหารตามที่คณะกบฏ ร.ศ. 130 อ้าง เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับพระราชบันทึกประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ที่ได้ทรงบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการที่มหาดเล็กถูกทหารรุมทำร้ายในขณะนั้นเอาไว้ด้วย
และการที่ในหลวง ร.5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายพลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ สั่งลงโทษโบยนายทหารคนละ 30 ทีนั้น จริงๆ แล้วไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ 6) เลย เพราะการโบยนายทหารนั้น เป็นการลงโทษในความผิดฐานออกนอกกรมกองในเวลาวิกาล แล้วไปวิวาทกับบุคคลพลเรือน ซึ่งเป็นเรื่องผิดวินัยอย่างร้ายแรง และในสมัยนั้นก็ยังคงกำหนดโทษโบยอยู่
ซึ่งในเวลาต่อมา ในหลวง ร.6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกโทษโบยแก่ทหารบก ทหารเรือ และตำรวจนครบาล เพราะเห็นว่าการโบยนั้นไม่สมควรแก่ทหารผู้มีหน้าที่ป้องกันรักษาพระมหากษัตริย์ ชาติและเมืองมารดร
สำหรับกรณีการโบยหลวงรักษานารถ ก็ไม่พบหลักฐานว่าได้เคยมีพระบรมราชโองการให้ถอดจากยศบรรดาศักดิ์ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่หลวงรักษานารถจะถูกถอดยศรวมถึงถูกขังคุกเป็นเวลาหนึ่งปีด้วย ส่วนกรณีการโบย ได้ปรากฏหลักฐานจากบันทึกของนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง ชิวห์ บุนนาค อดีตผู้อำนวยการกองวัง สำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์และได้บันทึกเอาไว้ว่า สาเหตุมาจากเรื่องของคณะโขนละคร ที่กำลังทำการซ้อมการแสดง เพื่อเตรียมแสดงโขนถวายสมเด็จพระพันปีหลวงทอดพระเนตรในงานขึ้นปีใหม่ แต่ว่านางรำคนหนึ่งได้ขาดการซ้อมเพราะเพิ่งแต่งงาน และถูกหลวงรักษานารถผู้เป็นสามีหน่วงเหนี่ยวไว้จนไม่ได้มาฝึกซ้อม ดังนั้นเมื่อในหลวง ร.6 ทรงทราบ จึงได้ไต่สวนความผิด และให้ลงโทษโบยแต่เพียงเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าเรื่องการลงโทษโบยที่คณะกบฏ ร.ศ. 130 ใช้มาเป็นข้ออ้างเพื่อก่อการนั้น ล้วนถูกแต่งเติมจนผิดเพี้ยนไปจากความจริง เหมือนกับเรื่อง “คดีพญาระกา” ซึ่งเป็นสาเหตุให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ และลุกลามจนผู้พิพากษาพร้อมใจกันลาออก 28 คน ตลอดจนเรื่องผิดใจกันของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กับนายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ซึ่งเมื่อเอามารวมกับเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 จะเห็นว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นต่อเนื่องในเวลาไล่เลี่ยกัน และตัวบุคคลที่เกี่ยวพันกับเรื่องเหล่านี้ ก็เป็นบุคคลชุดเดียวกัน
เมื่อลองวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ดู ก็จะเห็นได้ว่า เรื่องทั้งหมดเป็นการวางแผนเพื่อมุ่งทำลายพระเกียรติยศของในหลวง ร.6 ด้วยการปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังอาฆาตมาดร้าย แล้วสมคบกันเป็นคณะ เตรียมการที่จะลอบปลงพระชนม์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ โดยจะเชิญพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
คณะกบฏ ร.ศ. 130 มีความมุ่งร้ายกระทำการอุกอาจอันเป็นอาญาแผ่นดิน ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษร้ายแรงที่สุด นั่นคือ โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต จำคุก 20 ปี 15 ปี 12 ปี ตามลำดับ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเห็นว่า คำพิพากษานั้นถูกต้องตามหลักกฎหมายแล้ว แต่ว่าความผิดต่างๆ ของคนเหล่านี้มีความมุ่งร้ายเฉพาะพระองค์ และในหลวง ร.6 ไม่ทรงมีความพยาบาทมุ่งร้ายแก่คนเหล่านี้ จึงใช้อำนาจในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน ลดหย่อนโทษให้ ผู้ที่รับโทษประหารชีวิต 3 คน ก็เหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต ผู้ที่รับโทษจำคุกตลอดชีวิต 20 คน ก็เหลือโทษ 20 ปี ส่วนผู้ที่รับโทษจำคุก 20 ปี 15 ปี และ 12 ปี จำนวน 68 คนนั้น ทรงให้รอลงอาญาเอาไว้
ดังนั้น ผู้กระทำความผิดในคดีกบฏ ร.ศ. 130 ทั้ง 91 คน จึงได้รับการลงโทษจริงเพียง 23 คนเท่านั้น และต่อมาเมื่อในหลวง ร.6 ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติมาถึงปีที่ 15 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 คณะกบฏ ร.ศ. 130 ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวเป็นอิสระทุกคน รวมเวลาที่ถูกคุมขังจริงเพียง 13 ปีเท่านั้น
ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงจากเอกสารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่า การก่อการของกลุ่มกบฏ ร.ศ. 130 ที่อ้างสาเหตุจากความเสื่อมโทรมในการบริหารราชการของในหลวง ร.6 รวมถึงการที่พระองค์ทรงกดขี่และเบียดเบียนราษฎรที่ไม่มีความผิดด้วยการเฆี่ยนตีนั้น เป็นข้อมูลที่ “บิดเบือน” จนเกินจริง และแม้ว่ากลุ่มกบฏ ร.ศ. 130 จะคิดร้ายกระทำการอุกอาจต่อพระองค์ แต่ในหลวง ร.6 ก็ไม่ทรงเอาความ และยังพระราชทานอภัยโทษให้ในเวลาต่อมาอีกด้วย
อ้างอิง :
[1] วรชาติ มีชูบท. เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ 6, กรุงเทพฯ สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2553
[2] พระยาบำรุงราชบริพาร(เสมียน สุนทรเวช). “กบฏ 130”, มานวสาร ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (มีนาคม 130)
[3] แถมสุข นุ่มนนท์, ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ.130.(พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สายธาร, 2545