ครูกายแก้วคือใคร?
ประเด็นที่กำลังร้อนระอุและเป็นข้อถกเถียงภายในสังคมในขณะนี้คงหนีไม่พ้นประเด็นของ “ครูกายแก้ว” ซึ่งเป็นรูปปั้นที่ตั้งอยู่บริเวณแยกรัชดา – ลาดพร้าว มีลักษณะเป็นรูปปั้นนั่ง มีปีกสองข้างที่หลัง มีเขี้ยว มีเล็บสีแดงทั้งสองนิ้ว และตัวสีแดงก่ำ
แต่เดิมครูกายแก้วเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนสาย “มู” ( กลุ่มคนที่เชื่อในเรื่องของสิ่งเหนือธรรมชาติ ไสยศาสตร์ และเครื่องรางของขลัง ) แต่ก็เพิ่งจะมาเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางเมื่อไม่กี่สัปดาห์นี้เอง ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการเกิดประเด็นดราม่าที่มีการขนรูปเคารพครูกายแก้ว แล้วเกิดปัญหาระหว่างการเดินทาง จึงทำให้รถติดหลายสิบนาที
สำหรับครูกายแก้วนั้นมี “เรื่องเล่า” สืบต่อกันมาและถ้าหากเราค้นหาข้อมูลใน google หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เกี่ยวกับครูกายแก้ว ก็จะได้ข้อมูลประวัติความเป็นมาของครูกายแก้วไปในแนวเดียวกันว่า
ครูกายแก้วนั้นเป็นอสูรเทพ ( ครึ่งอสูรครึ่งเทพ ) อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ส่วนที่มาของลักษณะครูกายแก้ว มีจุดเริ่มต้นจาก มีพระธุดงค์เข้าไปในนครวัด ( ศาสนสถานโบราณในประเทศกัมพูชา ) และได้เนรมิตถึง “ครูกายแก้ว” จึงได้มีการสร้างรูปจำลองเอาไว้ โดยรูปปั้นจะมีขนาดเล็กมีลักษณะเป็นรูปปั้นนั่ง และต่อมาก็ได้สืบทอดรูปจำลองนั้นมาถึง อาจารย์ ถวิล มิลินทจินดา หรือผู้เป็นที่รู้จักในแวดวงว่า “พ่อหวิน” นักร้องเพลงไทยเดิมของกองดุริยางค์ทหารสมัยก่อน จนสุดท้ายก็ตกมาอยู่ในมือของ อาจารย์สุชาติ รัตนสุข ซึ่งถือว่าท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ในเรื่องของการตั้งศาล / เทวสถาน ที่เกี่ยวเนื่องกับเทพเจ้าในศาสนาพรามหณ์ – ฮินดู
เมื่ออาจารย์สุชาติ รัตนสุข ได้รับรูปเคารพขนาดเล็กของ “ครูกายแก้ว” มา ก็ได้มีการวาดภาพร่างจาก “นิมิต” ของอาจารย์เพิ่มเติม และภายหลังอาจารย์ไดมีดำริในการสร้างรูปเคารพขนาดใหญ่ขึ้นมา จนเป็นที่มาของรูปเคารพครูกายแก้วในลักษณะที่เราเห็นในปัจจุบัน โดยฝีมือของอาจารย์สุชาตินั่นเอง
แต่ในเรื่องนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือมีการนำไปผูกโยงกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า “ครูกายแก้ว” เป็นอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
แต่มีจุดสังเกตอย่างหนึ่งคือ ถ้าหากเราตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ดี ๆ จะพบว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทศิลาจารึก คือ “จารึกปราสาทตาพรหม” ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีการกล่าวถึงการทำบุญอุทิศ และประดิษฐานรูปเคารพอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อีกทั้งในจารึกนั้นมีการกล่าวนามอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างชัดเจนว่ามีสองตน คือ
- ศรีชยมังคลารถเทวะ
- ศรีชยกีรติเทวะ
สิ่งที่เราเห็นได้ชัดในจารึกหลักนี้คือ ไม่ปรากฏชื่อของ “ครูกายแก้ว” หรือ ชื่อที่ใกล้เคียงคำว่า “กายแก้ว” เลย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายคนคงสงสัยว่า อ้าว! งั้น history ของครูกายแก้ว ที่สายมูเชื่อสืบต่อกันมาก็เกิดจากการปรุงแต่งโดยปราศจากหลักฐานน่ะสิ
ต้องอธิบายเพิ่มเติมอย่างนี้ครับว่า การที่มีการพยายามผูกโยงครูกายแก้วเข้ากับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากคติความเชื่อที่ว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ขอมโบราณผู้ยิ่งใหญ่ ในรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ทรงปรีชาสามารถและขยายอำนาจของอาณาจักรขอมโบราณไปได้อย่างกว้างขวาง แสดงให้เห็นถึงบารมีและอำนาจของพระองค์ที่มีมากอย่างยิ่ง
ซึ่งเป็นเรื่องปกติครับที่ในสังคมไทยจะมีการเอาผู้ที่มีอำนาจและบารมีในประวัติศาสตร์ไปโยงเข้ากับเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วนำมากราบไหว้ ขอพร ต่างนานา
ย้อนกลับเข้าสู่ประเด็นของเราครับ คือในเรื่องของนามครูกายแก้ว ในจารึกสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7นั้น ไม่ปรากฏนามที่ใกล้เคียงเลย แล้วหากดูนามอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้ว อาจารย์ของพระองค์ทุกตนจะมีคำว่า “ศรีชย” ขึ้นหน้าทุกตน แล้วถ้าพระองค์จะมีอาจารย์ที่ชื่อ “คุรุกายแก้ว” อีกตน คงไม่ค่อย make sense กับบริบทการตั้งชื่อในสมัยนั้นเท่าไหร่นะครับ (ฮา)
และจากเนื้อความจารึกฯ โดยรวม ก็แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้ความสำคัญกับอาจารย์ของพระองค์อย่างยิ่ง ถ้าจะมีการจารึกถึงอาจารย์ของพระองค์แล้วทำชื่อขาดตกบกพร่อง หรือหลงลืมไป อันนี้ยิ่งเป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งเลย
เพราะฉะนั้นในประเด็นที่ว่า ครูกายแก้ว เป็นอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น ก็ตัดทิ้งไปได้เลย เพราะถูกหักล้างไปโดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจนแล้ว
แต่ถ้าหากเราตามข่าวกันอย่างละเอียด ก็จะพบคำอธิบายความเป็นมาของครูกายแก้วไปอีกหลายแนว บ้างก็ว่า ท่านมีวิวัฒนาการจากผีกองกอย ผีพื้นเมืองตามความเชื่อของทางภาคอีสาน หรือ การนำภาพสลักนักพรต/ฤๅษี ที่สลักขึ้นในยุคสมัยที่ต่างจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มาคิดเองบ้างว่าเป็นครูกายแก้ว
แต่ก็มีคำอธิบายที่ลึกเข้าไปอีกว่ามาจาก วิชาธรรมเก้าโกฏิ ( ห้องสุวรรณกาย : ตามคำอธิบายของศิษย์สายครูกายแก้วกลุ่มหนึ่ง ) ของหลวงปู่บุญโฮม นาคธัมโม วัดดงสวนผึ้ง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด หากแต่ก็มีคณะลูกศิษย์ ผู้ศึกษาสายวิชาธรรมนี้ ก็ออกมายืนยันหลายคนว่า ในวิชาสายธรรมเก้าโกฏินี้ ไม่มีเรื่องของครูกายแก้ว และไม่มีห้องสุวรรณกายตามที่มีคนกล่าวอ้าง
อีกทั้ง วิชาธรรมเก้าโกฏิ เป็นวิชาหนึ่งซึ่งมีไว้ช่วยเหลือคน ขจัดเรื่องภูติผีปีศาจ ดังนั้นการที่จะเอารูปเคารพที่น่ากลัวมาเป็นส่วนหนึ่งของสายวิชาคงเป็นไปไม่ได้เลย
แสดงว่าคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นมาของครูกายแก้วหลาย ๆ ทฤษฎีนั้น ส่วนมากก็ถูกโต้แย้งไป
ซึ่งข้อมูลที่ถูกแย้งไปนั้นก็ควรที่จะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะหากคนที่ไม่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์เข้ามาอ่านหรือศึกษา ก็จะเชื่อไปตาม ๆ กัน โดยไม่คิดวิเคราะห์ข้อมูลเสียก่อน แล้วชุดความเชื่อเหล่านั้นก็จะสร้างความเข้าใจผิดภายในสังคมต่อไปในภายภาคหน้า
อนึ่ง น่าแปลกที่สังคมในปัจจุบันนี้ก้าวเข้าสู่ “ยุคโลกาภิวัฒน์” แล้ว แต่ก็ยังมีคนหลาย ๆ กลุ่มเลือกที่จะเชื่อประวัติศาสตร์ฉบับ “บอกเล่า” หรือ ประวัติศาสตร์จาก “นิมิต” มากกว่าประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงจากหลักฐาน และตั้งอยู่บนพื้นฐานความสมเหตุสมผลเสียอีก
อ้างอิง :
[1] คมชัดลึกออนไลน์ , ‘ครูกายแก้ว’ บรมครูแห่งโชคลาภ ไหว้ที่ไหน ขอพรอย่างไร ให้สมหวัง , สืบค้นเมื่อวันที่ 28/สิงหาคม/พ.ศ 2566
[2] นิพัทธ์ แย้มเดช , จารึกปราสาทตาพรหมและจารึกปราสาทพระขรรค์ : การศึกษาเปรียบเทียบในด้านเนื้อหา , สืบค้นเมื่อวันที่ 28/สิงหาคม/พ.ศ 2566
[3] คำอธิบายจากผู้ที่สำเร็จ / ศึกษา / คณะศิษย์ ที่ศึกษาวิชาธรรมเก้าโกฏิ เช่น ฤๅษีคัมภีร์ เป็นต้น ฯลฯ