คนไทยพร้อมกับระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ หรือไม่ ในมุมมองของชาวต่างชาติ ก่อนการปฏิวัติ 2475
ปัจจุบันมีนักวิชาการฝ่ายต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์บางคน พยายามปลูกฝังชุดความคิดบิดเบือนให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่านงานเขียน หรืองานเสวนาผ่านเครือข่ายของพวกเขาในทำนองว่า “เจ้าไทยก่อน 2475 ไม่อยากให้ประชาชนมีประชาธิปไตย” หรือ “สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 หวงอำนาจ”
มายาคติเหล่านี้ได้ถูกผลิตซ้ำอย่างน่าตกใจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักวิชาการเหล่านี้มักหยิบยกเอาร่างรัฐธรรมนูญก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 7 ทั้ง 2 ฉบับ (ปี พ.ศ. 2469 กับ พ.ศ. 2474 ตามลำดับ) มานำเสนออย่างฉาบฉวยว่า หากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้จริง ประชาชนคนไทยก็ยังไม่ได้ยลโฉมการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (ระบบรัฐสภา) อยู่ดี เพราะถือว่าอำนาจอธิปไตยยังเป็นของพระมหากษัตริย์ ตามธรรมชาติของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
การกล่าวในข้างต้นนั้น เป็นการมองข้ามข้อเท็จจริงของธรรมชาติแห่งรูปแบบการปกครอง เพราะต่อให้รัฐธรรมนูญฉบับปรีดีฯ (ธรรมนูญการปกครองสยามฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2475) จะระบุว่าอำนาจ “อธิปไตยเป็นของประชาชน” แต่ตามสาระและข้อเท็จจริงแล้ว ประชาชนไม่สามารถใช้อำนาจเหล่านี้ได้เอง จะต้องใช้ในนามองค์อธิปัตย์ นั่นก็คือ “พระมหากษัตริย์” แต่ในที่นี้ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากแต่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้แทนอธิปไตยปวงชนในระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญที่สืบทอดระบอบการปกครองมาแต่โบราณ
และอีกเช่นกัน “พระมหากษัตริย์” ก็ไม่สามารถใช้พระราชอำนาจนี้โดยลำพังได้ แต่จะต้องใช้ผ่านฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และฝ่ายตุลาการ (การบังคับใช้กฎหมาย)
ดังนั้น ต่อให้ระบุว่า “อธิปไตยเป็นของประชาชน” แต่ประชาชนก็ไม่สามารถใช้อำนาจทางตรงได้ ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ทั้งสิ้น การอ้างว่าอำนาจเป็นของประชาชน จึงเป็นแค่เพียงวาทกรรมขายฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงในทางปฏิบัติเท่านั้น
และเมื่อเราพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ประชาชนคนไทยในขณะนั้น ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับระบอบการปกครองใดนอกเหนือไปกว่าการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งระบอบนี้ก็เพิ่งสถาปนาขึ้นในไทยในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2435 เท่านั้น (40 ปีก่อนการปฏิวัติ)
การเร่งเร้าให้ประเทศริเริ่มระบอบการปกครองแบบใหม่ อาทิ ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีตัวแทนเป็นนักการเมือง ได้สร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลและบรรดาที่ปรึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 7 อยู่ไม่น้อย เพราะเกรงกันว่า จะเป็นประชาธิปไตยแค่เพียงชื่อเท่านั้น แต่รูปแบบไม่ใช่ เพราะหากประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองนี้ดีพอ อำนาจบริหารและนิติบัญญัติที่พระมหากษัตริย์พระราชทานลงมาแก่ประชาชนคนไทยทั้งหลาย ก็จะไปตกอยู่กับบรรดาคณาธิปไตย หรือเหล่านักการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย
จริงอยู่ แม้จะมีผู้โต้แย้งว่า “ในเมื่อรัฐบาลของในหลวงรัชกาลที่ 7 ไม่ยอมให้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแก่ประชาชนเสียที แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าคนไทยยังไม่พร้อมในเวลานั้น” แต่ประวัติศาสตร์หลังจากนั้นก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้แต่คระราษฎรเอง สุดท้ายก็มีความเห็นไม่ต่างจากรัฐบาลของในหลวงรัชกาลที่ 7 มากนัก นั่นคือ หลังปี พ.ศ. 2475 “ประชาชนคนไทยก็ยังไม่มีความพร้อมสำหรับระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย” ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลคณะราษฎรจึงขอสงวนอำนาจบางประการไว้เป็นเวลา 10 ปี โดยเงื่อนไขดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร วันที่ 10 ธันวาคม 2475 ด้วย
ในเรื่องนี้ แม้แต่ชาวต่างประเทศซึ่งเป็นที่ปรึกษารัฐบาลของในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ยังมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
ช่วงต้นปี พ.ศ. 2475 นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond Bartlett Stevens) ชาวอเมริกันผู้เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลของในหลวงรัชกาลที่ 7 เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง ร่วมกับพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเล้ง ฮุนตระกูล) ขุนนางระดับสูงของไทย ตามพระประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่จะมอบรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้เป็นของขวัญแก่คนไทยในเดือนเมษายนปีนั้น (ชื่อร่างรัฐธรรมนูญว่า “An Outline of Changes in the Form of Government” – เค้าโครงการเปลี่ยนรูปแบบแห่งรัฐบาล)
แต่สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้ประกาศใช้ เพราะโดนคัดค้านจากคนในรัฐบาลหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอง
โดยนายเรย์มอนด์ ได้ให้เหตุผลไว้ในบันทึกข้อความ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า …
“… ข้าพเจ้าขอเห็นด้วยเกล้าว่า ความรู้เกี่ยวกับชาวสยามของข้าพเจ้ามีอยู่อย่างจำกัด แต่ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็มีประสบการณ์อันยาวนานกับการปกครองในระบอบมหาชนเป็นใหญ่ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่ผู้ที่เชื่ออีกละว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจกษัตริย์มีอยู่อย่างไม่กำจัด จักสามารถดำรงอยู่ในสยามได้สถาพรอย่างแน่แท้ (แต่สำหรับการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองในเวลานี้) ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า กาลยังหาถึงแก่ควรไม่ … ชาวสยามยังไม่มีความเหมาะสมที่จะมีส่วนร่วมในรัฐบาลแห่งชาติได้ในเวลานี้ …”
นอกจากนั้น นายเรย์มอนด์ ยังสรุปความสำเร็จในการดำเนินรัฐประศาสนโยบายของสยามในเวลานั้นไว้ด้วยว่า …
“… ในความจริงแล้ว ความสามารถในทางการเมืองทางปกครองของชาวสยาม ได้ถูกทำให้ชัดผ่าน (ความสามารถของ) พระราชวงศ์และบรรดาข้าราชการในรัฐบาล …”
จะเห็นได้ว่า ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของในหลวงรัชกาลที่ 7 รัฐบาลคณะราษฎร (ช่วงหลังปี พ.ศ. 2475) หรือแม้แต่ฝรั่งผู้นิยมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ก็ยังเห็นพ้องต้องกันว่า ในช่วงเวลานั้นประชาชนคนไทยยังไม่พร้อมสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน และจากคำกล่าวของนายเรย์มอนด์ ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามในเวลานั้นนับได้ว่ามีประสิทธิภาพมากทีเดียว
ทั้งหมดนี้จึงสอดคล้องกับการที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะค่อยๆ มอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน เพื่อความมั่นคงแข็งแรงของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทรงวางรากฐานไว้ให้กับประเทศชาติมาโดยตลอด