28 พ.ย. 2022 Quotes Quotes ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้า ไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร LINE iconLine “…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้า ไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…”บางส่วนของคำประกาศสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ระหว่างที่ในหลวง ร.7 เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ ทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ซึ่งทรงพระอักษรด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์ยาว 6 หน้า ทรงเขียนออกมาจากความรู้สึกอันแท้จริงของพระองค์ พระราชทานมาจากบ้านโนล แครนลี ประเทศอังกฤษ นับว่าเป็นเอกสารสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ด้านการเมืองการปกครองของชาติไทยในพระราชหัตถเลขา ส่วนหนึ่งกล่าวถึงปัญหาและข้อขัดข้องต่างๆ ที่พระองค์ทรงประสบจากการดำเนินงานของรัฐบาลคณะราษฎร อาทิ การที่รัฐบาลแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง แทนการเลือกตั้ง โดยไม่ได้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงพิจารณาก่อน การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อการออกพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ และการตั้งศาลพิเศษเพื่อตัดสินคดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวมถึงการปราบปรามกบฏบวรเดช ในปี พ.ศ. 2476 ซึ่งรัฐบาลคณะราษฎรได้ดำเนินคดีความกับคณะกู้บ้านกู้เมือง โดยไม่ได้ดำเนินการตามที่พระองค์ได้ทรงชี้แนะไว้ ซึ่งข้อความในพระราชหัตถเลขา ความว่า …“… ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ …”และข้อความที่เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือ คำประกาศสละราชสมบัติ ความว่า …“… ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้า ไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ …”