ข้อมูลเท็จของ ณัฐพล ใจจริง บิดเบือนใส่ร้าย รัชกาลที่ 7 ในวารสารสถาบันพระปกเกล้า
เมื่อไม่นานมานี้ ทีมงาน ฤา ได้มีโอกาสอ่านบทความขนาดสั้นชิ้นหนึ่ง ชื่อ “สถาบันพระมหากษัตริย์ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองช่วงต้นระบอบใหม่ของสยาม พ.ศ. 2475-2476” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสารสถาบันพระปกเกล้า ฉบับเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2559
เนื้อหาบางส่วนของบทความได้กล่าวถึงในหลวง ร.7 ในลักษณะ “จงใจโจมตี” โดยระบุว่าพระองค์ทรงสนับสนุน “ให้กำจัดคณะราษฎร” ในช่วงปี พ.ศ. 2476 ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูแหล่งอ้างอิงแล้ว พบว่าเป็นข้อมูลที่แทบจะไม่มีความน่าเชื่อถือเลย
โดยผู้แต่งบทความชิ้นนี้ คือ “ณัฐพล ใจจริง” นักวิชาการรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวอยู่ในปัจจุบัน
แม้บทความดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจประวัติศาสตร์นิพนธ์ของพวกนิยมเจ้า ซึ่งณัฐพลฯ ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก และประวัติศาสตร์นิพนธ์ฝ่ายคณะราษฎร (ซึ่งจริงๆ ก็เป็นกระแสหลักไม่แพ้งานเขียนฝ่ายเจ้าเหมือนกัน) โดยณัฐพลฯ พยายามชี้ให้เห็นว่า แต่ละฝ่ายนั้นต่างมีแนวทางการเขียนประวัติศาสตร์ของตนเอง
อย่างไรก็ดี มีจุดที่น่าสังเกตว่า ณัฐพลฯ พยายามนำเสนอประเด็นเรื่องของขบวนการฝ่ายเจ้า ที่พยายามต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎร โดยละเลยไม่กล่าวถึงข้อเท็จจริงอีกด้านว่า ก่อนที่จะเกิดการต่อต้านคณะราษฎรในช่วงกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 นั้น รัฐบาลคณะราษฎรได้ใช้อำนาจอย่างเผด็จการ และปิดปากผู้คิดต่างจริง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่คณะราษฎรทำนั้นย่อมต้องมีผู้ไม่พอใจอยู่แล้ว
ณัฐพล ใจจริง มีความสามารถในการเลือกหยิบหลักฐานจากหลายๆ แหล่งมาใช้ในการเขียนงานวิชาการได้อย่างน่าทึ่ง แม้หลักฐานนั้นจะเบาบางจนไม่น่าเอามาใช้อ้างอิงได้ ซึ่งในกรณีบทความที่เขาเขียนลงวารสารพระปกเกล้าฉบับนี้ ณัฐพลฯ ได้อ้างอิงหลักฐานจาก “คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482” ซึ่งเป็นเอกสารที่ถูกทำขึ้นมาภายหลังเหตุการณ์ พ.ศ. 2476 ถึง 7 ปี โดยในบทความของณัฐพลฯ ได้ระบุข้อความใส่ร้ายในหลวง ร.7 ตามที่ปรากฏใน “คำพิพากษาศาลพิเศษ” นี้ว่า …
“… จากคำพิพากษาศาลพิเศษ 2482 ได้บันทึกเรื่องราวช่วงเวลาดังกล่าวไว้ว่า พระปกเกล้าฯ ทรงสั่งการ ให้ราชเลขานุการส่วนพระองค์ มีพระราชหัตถเลขาถึง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีหลายครั้ง ให้โยกย้ายแกนนำนายทหารของคณะราษฎร ให้พ้นจากตำแหน่งที่คุมกำลังทั้งหมด จากนั้นให้ตั้งทหารผู้จงรักภักดีเข้าคุมกำลังสำคัญแทน อีกทั้งทรงมีหนังสือเร่งรัด ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เร่งกำจัดคณะราษฎรให้เด็ดขาด …”
โดยในปัจจุบัน วงการวิชาการยังไม่เคยพบหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันว่าในหลวง ร.7 ทรงสั่งการให้กำจัดคณะราษฎร ตามคำใส่ร้ายของศาลพิเศษนี้เลย อีกทั้งพฤติการณ์เช่นนี้ ยังขัดแย้งกับการรับรู้โดยทั่วไปว่า ในหลวง ร.7 ทรงนิยมแนวทางสันติวิธี และไม่ประสงค์ให้เกิดการนองเลือดระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
“คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482” คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองในยุคเผด็จการคณะราษฎรที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นตัวแทนกลุ่มการเมือง และถือว่าเป็น “ตรายางแห่งความชอบธรรมของรัฐบาลคณะราษฎร” ที่จะใช้ตัดสินใครก็ได้ให้เป็น “ศัตรูของประชาธิปไตย” ที่มีคณะราษฎรเป็นผู้ผูกขาดความชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียว
ตัวอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่มีการใช้ศาลพิเศษกล่าวหาปรักปรำบุคคลซึ่งคณะราษฎรเห็นว่าเป็นศัตรูทางการเมืองคือ การใส่ร้ายกรมพระยาชัยนาทนเรนทรว่ากระทำความผิดฐานกบฏ โดยไม่เปิดโอกาสให้กรมพระยาชัยนาทฯ ได้มีโอกาสต่อสู้คดีเลย
และนักวิชาการรวมถึงนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของไทยจำนวนมาก ต่างไม่ให้น้ำหนักต่อ “คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482” นี้เลย
นอกจากนั้น ณัฐพล ใจจริง ยังจงใจใช้เอกสารเท็จที่ถูกทำปลอมขึ้นใหม่เมื่อไม่กี่สิบปีก่อน นั่นก็คือบทความ “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว สั่งประหารคณะผู้ก่อการ 2475” ที่เขียนขึ้นโดยนายจิตตะเสน ปัญจะ สมาชิกคณะราษฎรที่ภายหลังประกาศตัวว่าเป็นพวกชังเจ้า ซึ่งบทความดังกล่าวมีการตีพิมพ์ครั้งแรกและครั้งเดียวในวารสาร “ปาจารยสาร ปีที่ 26 ฉบับ ก.ค. – ต.ค. 2542” โดยปราศจากเอกสารชั้นต้นที่น่าเชื่อถือ
และเป็นที่รับรู้กันว่า วารสาร “ปาจารยสาร” นั้นมี ส.ศิวลักษณ์ ผู้อ้างตนว่าเป็นปัญญาชนสยาม เป็นผู้เกี่ยวข้องคนสำคัญคนหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ณัฐพลฯ ได้นำข้อความในวารสาร “ปาจารยสาร” มาใส่ในบทความโดยปรักปรำในหลวง ร.7 อย่างร้ายแรงว่า …
“… มีพระบรมราชโองการล่วงหน้าให้ประหารชีวิตคณะราษฎร โทษฐานก่อการกบฏต่อราชวงศ์จักรีในการโค่นล้มการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จากนั้น ให้นำหัวของกบฏคณะราษฎร เสียบประจานแก่ประชาชน มิให้เอาเป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไปที่ท้องสนามหลวง …”
ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพิสูจน์แล้วว่า พระบรมราชโองการฉบับดังกล่าวเป็น “ของปลอม” แต่ณัฐพล ใจจริง ก็ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือแก้ไขความผิดพลาดนี้แม้แต่ครั้งเดียว
ทั้งหมดนี้ คืออีกหนึ่งผลงานของ ณัฐพล ใจจริง ที่พยายามโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อมูลบิดเบือน โดยใช้คำว่า “เสรีภาพทางวิชาการ” เป็นเกราะกำบัง
ก็น่าแปลกใจว่า เหตุใดสถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นสถาบันวิชาการระดับสูงของชาติ จึงยินยอมให้มีการตีพิมพ์บทความที่เต็มไปด้วยการกล่าวหาใส่ร้ายในหลวง ร.7 เช่นนี้ อีกทั้งยังใช้บริการงานวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง อยู่หลายครั้ง ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ชัดเจนว่า ทัศนคติของนักวิชาการคนนี้ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพระปกเกล้านั้นเป็นอย่างไร
สถาบันพระปกเกล้าในฐานะองค์การที่อาศัยเงินภาษีประชาชน ควรต้องมีคำตอบเรื่องนี้ให้กับคนไทยครับ
อ้างอิง :
[1] วารสาร พระปกเกล้า ฉบับเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2559.