กำเนิด “วังไกลกังวล” ย้อนเวลาสู่บ้านของพ่อ ความสุขสงบที่เริ่มต้นจากความผูกพัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงมีความผูกพันกับ หัวหิน สถานตากอากาศชายทะเล ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากหมู่บ้านชาวประมงหาปลา ด้วยทั้งสองพระองค์ทรงเคยเสด็จไปประทับพักผ่อนอยู่ที่ตำหนักแสนสำราญ-สุขเวศน์ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ และพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวงตั้งแต่สมัยแรกเริ่มปฏิพัทธ์รักใคร่กัน โดยที่ไม่ทรงมีพระตำหนักที่ประทับเป็นของพระองค์เอง

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดหาที่ดินริมทะเลที่หัวหินเพื่อสร้างที่ประทับ ในปี พ.ศ. 2469 พร้อมๆ กับที่ได้ทรงตราพระราชบัญญัติสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก พุทธศักราช 2469 สำหรับท้องที่ตั้งแต่ชะอำถึงหัวหิน เพื่อเป็นองค์กรกรุยทางการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบ “ประชาภิบาล” หรือ “เทศบาล” (municipality) เพื่อที่ราษฎรจะได้เรียนรู้การปกครองในระดับท้องถิ่นใกล้ตัว ก่อนที่จะมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนสู่รัฐสภาในระดับชาติ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศขณะนั้น) โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถาน “ออกไปกะการสร้างวังใหม่ที่ตำบลหัวหิน” โดยเป็นการสร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี และในที่สุดจึงได้ที่ดิน ซึ่งแม้จะติดชายหาดถัดไปทางทิศเหนือของโฮเตลหัวหินของกรมรถไฟหลวง แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นทำเลที่ดีนัก ด้วยหาดทรายไม่กว้างและมีโขดหินปะปนอยู่ไม่น้อย มีพื้นที่รวม 38 ไร่เศษ จากการน้อมเกล้าฯ ถวาย และทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากเงินพระคลังข้างที่ และต่อมาได้มีการจัดหาเพิ่มเติมอีกจนเป็น 106 ไร่ ในปลายรัชสมัย

การก่อสร้างที่ประทับเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2469 โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประหยัดทุกทาง โดยเฉพาะการลำเลียงน้ำมาใช้ซึ่งต้องใช้เงินมาก ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระใหญ่ ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “ทะเลน้อย” ไว้เก็บกักน้ำทำน้ำประปาไว้ใช้เอง และแจกจ่ายแก่ราษฎร เมื่อต้องหาดินที่แข็งพอมาถมทำฐานพระตำหนักและหินมาทำเขื่อนที่ชายหาด ปรากฏว่า หลวงราชกิจวรเดช (โฉม เคนคำ) ปลัดกรมของกรมพระนเรศฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดมากมาแต่ไหนแต่ไร ก็ได้จัดหามาได้จากบริเวณใกล้เคียง

ในช่วงการก่อสร้างนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จฯ แวะทอดพระเนตรการก่อสร้างเขื่อนชายทะเลและประตูน้ำ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2470 ในเส้นทางเสด็จฯ กลับจากการเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยทางชลมารค ทรงประทับบนเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งทอดสมออยู่หน้าสถานที่ก่อสร้าง ได้เสด็จทรงกอล์ฟที่สนามของกรมรถไฟหลวง ประทับเรือใบที่ทหารเรือจัดถวายและเรือฉลอมของชาวบ้านใน 2-3 วัน หลังจากนั้นทรงสร้างความคุ้นเคยกับราษฎรแถบนั้นไปพร้อมๆ กัน

ในช่วงนั้นพระองค์ยังไม่ได้ทรงขนานนามที่ประทับแห่งนี้ เพียงมีพระราชกระแสว่า “เวลานี้ยังนึกไม่ออก” แต่การก่อสร้างพระตำหนักและโรงเรือนภายในวังได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนถัดมา และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2470 ได้มีการก่อสร้าง “พระตำหนักปลุกเกษม” ขนาดย่อม 2 ชั้น “ตำหนักเอิบเปรม” และ “ตำหนักเอมปรีดิ์” ซึ่งมีลักษณะเป็นบังกะโลชั้นเดียวคล้ายๆ กัน โดยได้สร้างเสร็จพร้อมกันในเดือนกันยายน พ.ศ. 2470

ตั้งแต่วันที่ 3 ถึงวันที่ 24 เดือนนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จฯ โดยเรือพระที่นั่งไปทอดสมออยู่ที่หน้าอ่าวหัวหิน เสด็จขึ้นฝั่งสู่พระตำหนักแสนสำราญของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ และทรงรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯ ทอดพระเนตรการก่อสร้างวัง ทรงกอล์ฟที่สนามกอล์ฟกรมรถไฟหลวงทุกวัน ทรงม้าไปยังเขาตะเกียบอยู่ 3 ครั้ง และประทับทอดพระเนตรภาพยนตร์ที่ข้างพระตำหนักที่ประทับอยู่คืนหนึ่ง

วันที่ 21 กันยายน เวลา 17.00 น. “เสด็จฯประทับในการพระราชพิธีก่อพระฤกษ์พระตำหนักชื่นสุข สวนไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการและทรงก่อพระฤกษ์แล้ว” เวลา 19.00 น. จึงเสด็จกลับ

วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 ราชเลขาธิการได้มีคำสั่งว่า “บัดนี้ ได้เห็นพระราชหัตถเลขาทรงใช้ว่า ‘สวนไกลกังวล หัวหิน’ ฉะนั้นให้เจ้าหน้าที่ในกรมนี้กำหนดจดจำใช้ให้ถูกต้องตามพระราชนิยมต่อไป”

การที่ทรงใช้คำว่า “สวน” สะท้อนถึงความเรียบง่ายและพระราชนิยมสวนดอกไม้และธรรมชาติของพระองค์และสมเด็จพระบรมราชินี ส่วนชื่อ“ไกลกังวล” นั้น สะท้อนถึงความสุขสงบไร้เรื่องราวกวนใจ ซึ่งน่าจะเป็นพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ทรงสำราญพระราชอิริยาบถ หากแต่ย่อมไม่ปลอดไปเสียสิ้นจากการทรงราชการงานเมืองทั้งปวงที่เป็นพระราชภาระ

เกี่ยวกับนามนี้ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงเท้าความไว้ว่า “ทรงได้ชื่อมาจากเยอรมัน กษัตริย์เยอรมันให้ชื่อที่ดินแห่งหนึ่งว่า SANS SOUCI ‘ซองซูซี’ เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า without cares ไม่มีกังวล พระเจ้าอยู่หัวทรงคิดจะไปสบายที่ไกลกังวล …”

Sans Souci เป็นพระราชวังฤดูร้อนของพระเจ้าเฟรเดริคที่ 2 กษัตริย์แห่งปรัสเซีย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2288 ที่เมืองปอตสดัม (Potsdam) ใกล้กรุงเบอร์ลิน (Berlin) ประเทศเยอรมนี และเป็นไปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ได้เคยเสด็จไปทอดพระเนตรพระราชวังนี้กับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์

สำหรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและตกแต่งอาคารต่างๆ ของวังไกลกังวลนั้น “เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากกรมพระคลังข้างที่ทั้งหมด โดยมิได้ใช้เงินแผ่นดินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ” แต่ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 คณะกรรมการพิจารณาเรื่องทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นตั้งขึ้น มีความเห็นว่า เป็นการจ่ายจากบัญชีพระคลังข้างที่ในส่วนที่ตีความว่า เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามนั้น ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2479 วังไกลกังวลจึงได้รับการโอนไปอยู่ในส่วนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมา

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ “วังไกลกังวล” สถานที่ประทับอันเกิดจากความผูกพันของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปประทับพักผ่อนยังตำบลชายทะเลเล็กๆ อย่าง หัวหิน จนเกิดเป็นพระตำหนักที่สวยงาม ตั้งอยู่ห่างไกลความวุ่นวาย และเป็นที่ประทับซึ่งมีแต่ความสุขสงบไร้เรื่องราวกวนใจ สมดังชื่อ “ไกลกังวล

ที่มา :

[1] กรรณิการ์ ตันประเสริฐ, จดหมายเหตุวังไกลกังวล สมัยรัชกาลที่ 7
[2] บรรเจิด อินทุจันทร์ยง, ประมวลพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
[3] หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, หัวหินและไกลกงัวล สมัยรัชกาลที่ 7, รายงานกิจการของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณ

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า