กำเนิด ‘ถนนสีลม’ แหล่งรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ บนเส้นทางธุรกิจสายแรกของกรุงเทพฯ
ในช่วงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การเดินทางสัญจรทางน้ำถือเป็นการคมนาคมหลักในยุคนั้น ราษฎรในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต่างตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลองเพื่อความสะดวกในการดำรงชีวิต มีการขุดเชื่อมต่อคูคลองต่างๆ เข้าไปถึงเขตเมืองชั้นในเพื่อความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงการติดต่อค้าขายกับโลกภายนอกก็เป็นไปอย่างสะดวก โดยเรือสำเภาของชาวต่างชาติสามารถเข้าเทียบท่าได้ถึงปากน้ำเจ้าพระยา
เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ชุมชนชาวต่างชาติก็เริ่มเกิดขึ้น โดยเฉพาะชุมชนชาวตะวันตกที่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่นำเอาแนวคิดและวิทยาการต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย รวมถึงแนวคิดในการสร้างถนนหนทางเพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมให้มีความสะดวกสบาย
ในปี พ.ศ. 2404 บรรดาพ่อค้าและกงสุลต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันยื่นเรื่องต่อกรมท่าขอให้รัฐบาลสร้างถนนในพระนครเพื่อความสะดวกมากยิ่งขึ้นในการเดินทาง ในหลวงรัชกาลที่ 4 จึงเห็นสมควรให้สร้างถนนหนทางขึ้นให้เหมือนกับบ้านเมืองในยุโรป ที่มีความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพิ่มความความสะดวกด้านการคมนาคม โดยมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม เป็นผู้ดำเนินงานการก่อสร้างถนน
โดยถนน 3 สายแรกที่ถูกสร้างขึ้นในครั้งนั้นคือ ถนนเจริญกรุง (ตอนนอก) ถนนหัวลำโพง และถนนสีลม
สำหรับ “ถนนสีลม” เป็นถนนที่เกิดขึ้นจากการขุดคลองเชื่อมระหว่างคลองบางรักและคลองถนนตรง (คลองริมถนนพระรามที่ 4) โดยคันดินที่ถูกขุดขึ้นมาถมเลียบขนานไปกับคลองนั้น ต่อมาได้กลายเป็นถนน ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านจะเรียกกันในชื่อ “ถนนขวาง”
ส่วนที่มาของชื่อ “ถนนสีลม” คาดกันว่าน่าจะมีที่มาจากการที่ชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาทำการค้าในสยามได้นำเครื่อง “สีลม” ซึ่งเป็นกังหันขนาดใหญ่ที่ใช้แรงลมในการสีข้าวมาตั้งไว้ที่ถนนขวาง โดยในสมัยนั้น บริเวณโดยรอบยังคงเป็นทุ่งโล่งกว้าง เครื่องสีลมจึงแลดูโดดเด่น และกลายเป็นชื่อเรียกของ “ถนนสีลม” ในเวลาต่อมา
หลังจากที่มีการสร้างถนนสามสายหลักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาได้มีการสร้างถนนในพระนครเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนถึง 18 สาย ในปี พ.ศ. 2434 และในส่วนของถนนสีลมนั้น ต่อมาได้มีการจัดแบบแผนการสร้างตึกริมถนนให้อยู่ในระบบระเบียบเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เช่าทำการค้า ทำให้ถนนสีลมกลายเป็นส่วนหนึ่งของย่านธุรกิจในเวลาต่อมา
จุดเด่นประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งของถนนสีลมคือ การคมนาคม โดยถนนสีลมมียวดยานพาหนะสัญจรกันอย่างครึกครื้นมาตั้งแต่อดีต ผ่านการพัฒนารูปแบบการคมนาคมมาหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่ยุครถรางในสยาม โดยเส้นทางของ “รถรางสายสีลม” ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2436 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นพาหนะขนส่งมวลชนชนิดแรกของไทย ทั้งยังเป็นระบบรถรางไฟฟ้าแห่งแรกในทวีปเอเชียอีกด้วย
ต่อมาระบบขนส่งมวลชนได้พัฒนามาสู่รถเมล์ขาวของบริษัท นายเลิศ จำกัด ตลอดจนรถเมล์ของ ขสมก. ตามลำดับ จนกระทั่งรถไฟฟ้า BTS สายสีลมได้ถือกำเนิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2542 ทำให้การเดินทางมายังถนนสีลมมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ถนนสีลม ในอดีตยังถือเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายของวัฒนธรรมนานาชาติ มีทั้งชาวจีน อินเดีย และยุโรป เข้ามาตั้งรกรากทำมาค้าขายหรือทำงานรับจ้างกันเป็นจำนวนมาก โดยชาติแรกที่เข้ามาตั้งรกรากคาดว่าน่าจะเป็นชาวอินเดีย เห็นได้จากในปัจจุบันถนนสีลมมีชาวอินเดียอาศัยอยู่มาก รวมทั้งมีศาสนสถานที่สำคัญอย่าง วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “วัดแขก” ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นตามคตินิยมของชาวฮินดู
และยังมีชนชาติยุโรปเข้ามาตั้งรกรากในย่านถนนสีลมด้วยเช่นกัน โดยจะเห็นได้จาก คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ป่าช้าฝรั่งเศส” และ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ที่ถูกสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
จากการที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติหลากวัฒนธรรมเข้ามาตั้งรกรากและทำการค้าในย่านนี้ ทำให้ถนนสีลมกลายเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ มาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย และในความรับรู้ของใครหลายคน ถนนสีลม ยังเป็นย่านที่มีความมั่งคั่ง ครึกครื้นด้วยความบันเทิงที่ไม่เคยหลับใหล มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน