กำเนิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า และคำลือเรื่องคำสาปแช่งของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ไม่เป็นความจริง

รู้ไหม กำเนิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “สะพานพุทธ” มีที่มาที่ไปอย่างไร และจริงหรือไม่ เกี่ยวกับคำเล่าลือใน “พงศาวดารฉบับกระซิบ” ที่ว่า

“ด้วยคำสาปแช่งของสมเด็จพระเจ้าตากสิน หากกรุงธนบุรีมาผนวกกับฝั่งกรุงเทพฯ เมื่อไหร่ ราชวงศ์ใหม่จะพินาศ”

เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร เรามาดูข้อมูลแบบละเอียดยิบกัน

กำเนิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า

สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ซึ่งแต่เดิมมีการวางแผนกันว่า จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปรารภพระราชประสงค์นี้กับคณะรัฐบาล ในการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ขึ้นมา คณะกรรมการจึงมีความเห็น 3 แนวทาง คือ

  1. สร้างเป็นรูปหรือวัตถุ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ระลึกและเป็นเกียรติศักดิ์โดยเฉพาะ มิได้หวังสาธารณะประโยชน์ ตัวอย่างเช่น พระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5
  2. สร้างเป็นสถานที่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ระลึกและเป็นเกียรติศักดิ์ แต่เป็นสถานที่สาธารณะประโยชน์ด้วย ตัวอย่างเช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หรือสาธารณะสถานอื่น ๆ
  3. ตั้งเป็นเงินกองทุน สำหรับหาดอกผลเพื่อการกุศลหรือสาธารณะประโยชน์ ตัวอย่างเช่น เงินทุนพระไตรปิฎกสำหรับรัชกาลที่ 6 และทุนสภากาชาด

ในเบื้องต้นคณะกรรมการมีความเห็นไปในแนวทางที่ 1 คือ การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสนอให้ทำเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยประดิษฐานอยู่หน้าพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม และขยายบริเวณหน้าวัดซึ่งเป็นตลาดเสาชิงช้า โดยรื้อออกแล้วทำสวนและลานกว้างออกมาถึงริมถนนราชดำเนิน

นอกจากนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้เสนอโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมกับฝั่งธนบุรี โดยยกเหตุผลเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และได้ทรงมีความเห็นว่าจะช้าจะเร็วยังไงก็ต้องสร้าง แต่ถ้าไม่ถือโอกาสนี้สร้าง อาจต้องรอเวลาอีกนานเพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินมาก ดังนั้นการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำในโอกาสเฉลิมฉลองพระนคร จะเป็นการสมพระเกียรติยศ

เบื้องต้นในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้มีพระราชดำริลงมาว่า โครงการของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อยู่ในประเภทงดงาม แต่ไม่สู้จะเป็นสิ่งสาธารณะประโยชน์ ส่วนโครงการของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นพระเกียรติยศมาก เพราะเป็นการเชื่อมกรุงธนบุรีกับกรุงรัตนโกสินทร์เข้าด้วยกัน จึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

หลังจากมีพระราชดำริ คณะกรรมการจึงได้เปิดประชุม ลงความเห็น 4 โครงการ คือ

  1. สร้างเพียงแค่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่มุขหน้าพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม
  2. สร้างพระบรมรูปที่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม แล้วขยายเขตทำลานหน้าพระบรมรูปออกไปจนถึงริมถนนราชดำเนิน
  3. สร้างตึกสนามสถิตยุติธรรมเป็นฉากหลัง รับกับพระบรมรูปที่ข้างสนามหลวง ตามแบบแนวพระราชดำริในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเคยคิดจะสร้างในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี
  4. สร้างพระบรมรูปและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมธนบุรีกับกรุงเทพฯ

คณะกรรมการได้ลงมติเห็นด้วย กับโครงการสร้างตึกสนามสถิตยุติธรรมประกอบพระบรมรูปที่ข้างสนามหลวง 9 เสียง ส่วนโครงการสะพานข้ามแม่น้ำ มีมติเห็นด้วย 4 เสียง

เหตุผลหลักที่โครงการสะพานข้ามแม่น้ำ ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วย เพราะติดปัญหาเรื่องของเงินทุนที่จะสร้าง ซึ่งในระหว่างนั้นงบประมาณแผ่นดินมีจำกัด ประกอบกับประเทศกำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานมติดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงมีพระราชกระแสให้ทำโครงการสะพานข้ามแม่น้ำ โดยจะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 2 ล้านบาท พร้อมที่ดินสำหรับใช้สร้างสะพานด้วย หากขาดเหลือเท่าใดจึงค่อยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน

เมื่อมีพระราชกระแสดังนี้ จึงทำให้ทางฝ่ายเสนาบดีสภาไม่ติดขัด เพราะว่าหากสร้างสะพานข้ามแม่น้ำจะใช้เงินประมาณ 4 ล้านบาท เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 7 พระราชทานเงินสร้าง 2 ล้านบาท เท่ากับว่าจะใช้งบประมาณแผ่นดินไม่ถึงครึ่งนึง อีกทั้งหากไม่สร้างตอนนี้ ต่อไปในอนาคตยังไง ๆ ก็ต้องสร้าง และอาจจะต้องใช้เงินมากกว่านี้ด้วย ทำให้ไม่มีใครคัดค้าน จึงเป็นอันได้ข้อสรุปว่าจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

ความเชื่อมโยงกับกรุงธนบุรี

สำหรับพื้นที่ในการจัดสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ได้มีการกำหนดเขตที่ดินฝั่งพระนครเพียงแค่แถว ๆ ปากคลองตลาดถึงท่าน้ำราชวงศ์ แต่สำหรับฝั่งธนบุรี กำหนดเขตตั้งแต่คลองสานขึ้นไปจนถึงบางอ้อ

จากแผนที่ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน จะเห็นได้ว่า บริเวณที่เป็นแนวสะพานจากฝั่งตรงข้ามปากคลองตลาด ไปจนถึงฝั่งตรงข้ามท่าน้ำราชวงศ์ เป็นบริเวณชายขอบของธนบุรี ตัวเมืองธนบุรีจริง ๆ นั้น อยู่บริเวณระหว่างคลองบากกอกน้อยกับคลองบางกอกใหญ่

ดังนั้นนัยของการสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ จึงไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับกรุงธนบุรี

ประการต่อมา สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ไม่ใช่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก เพราะสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกคือ สะพานพระราม 6 สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2465 และเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2469 อยู่บริเวณตำบลบางซ่อน ซึ่งเป็นทั้งสะพาน ถนน และทางรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเปิดใช้งานมาก่อนสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ กว่า 5 ปี

อีกทั้งวงเวียนใหญ่ และพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สร้างขึ้นช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2494 – 2497 ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี หรือราว ๆ 20 ปี หลังการเปิดใช้งานสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า

ประการสุดท้าย บริเวณที่จัดสร้างสะพาน ยังเป็นพื้นที่ชายขอบกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนสกุลบุนนาคอีกด้วย นั่นคือ บ้านของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) และบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ทั้งสองท่าน เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอย่างใดเลยกับเครือข่ายขุนนางของพระเจ้าตากสิน

ดังนั้น พงศาวดารฉบับกระซิบที่ ส. ศิวรักษ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในสารคดี “เจ้าฟ้าผู้อาภัพ : กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” เรื่องคำสาปแช่งของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ว่าหากกรุงธนบุรีมาผนวกกับฝั่งกรุงเทพฯ เมื่อไหร่ ราชวงศ์ใหม่จะพินาศ “จึงไม่เป็นความจริง”

ที่มา :

[1] กรมศิลปากร. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525
[2] พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเพื่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ และสร้างคมนาคมเชื่อมจังหวัดพระนครกับธนบุรี(2471, 28 ธันวาคม) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม45 หน้า 236

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า