![](https://www.luehistory.com/wp-content/uploads/2023/01/13001100.jpg)
กำเนิดนามสกุลของคนไทย จากพระราชวิสัยทัศน์อันทันสมัยของ รัชกาลที่ 6
นับตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงสมัยของรัชกาลที่ 5 คนไทยเราไม่เคยมีการใช้นามสกุลมาก่อน จะมีเพียงชื่อเรียกเดี่ยวๆ เช่น นายมั่น นายมี ตาสี ตาสา แม่นวล อำแดงเหมือน เป็นต้น ซึ่งในแง่ของการเรียกขานนั้นก็ถือว่าสะดวกปากอยู่ แต่บ่อยครั้งที่มีการตั้งชื่อคนซ้ำๆ กัน ดังนั้น เวลาจะสืบสาวหรือระบุเจาะจงลงไปว่าคนๆ นั้นเป็นใครหรือมีเทือกเขาเหล่ากอใด ก็จะต้องอ้างไปถึงพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด เช่น นายอิน ลูกตาเอื้อน หรือบางทีก็ใช้การระบุถึงลักษณะเด่น/ด้อยเฉพาะตัวของคนๆ นั้น หรือพ่วงด้วยชื่อถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น ตามีหัวล้าน หรือ นายมั่นบ้านดอน เป็นต้น
และหากย้อนไปถึงสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแห่งก็ยังทรงประกาศพระนามของพระองค์ โดยอ้างอิงถึงพระนามของพระชนกและพระชนนี ประกอบไว้ในศิลาจารึกว่า “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง”
หรืออย่างในนิทานมหากาพย์พื้นบ้านของไทยสมัยอยุธยาอย่าง เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็จะพบว่ามีการเรียกชื่อตัวละครเพียงว่า พลายแก้ว นางพิม ขุนช้าง ขุนแผน และเมื่อจะอ้างให้จำกัดความเฉพาะตัวลงไปว่าเป็นใครมาจากไหน ก็จะต้องระบุไปถึงบิดามารดา เช่น พลายแก้ว ลูกของขุนไกรพลพ่ายและนางทองประศรี เป็นต้น
ซึ่งการเรียกขานชื่อของคนไทยจะแตกต่างจากชาวต่างชาติ เช่น คนจีนจะนิยมชื่อเรียกพร้อมกับชื่อแซ่ของต้นตระกูล หรือชาวตะวันตกก็จะมีนามสกุลใช้ เพื่อระบุถึงวงศ์วานว่านเครือ
และเมื่อสังคมเริ่มมีการขยายตัว การเรียกเฉพาะชื่ออย่างเดียวของคนไทยก็เกิดปัญหาขึ้น เริ่มมีความไม่สะดวกและเกิดความยุ่งยาก โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีระบบราชการ ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456” ขึ้น โดยมีการประกาศและบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ด้วยทรงดำริเห็นว่าคนไทยทุกคนควรจะมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล เพื่อช่วยกำหนดตัวบุคคลได้แน่นอนกว่าการเรียกชื่อเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในทางราชการ
สำหรับคนไทยคนแรกที่มีนามสกุล คือ “เจ้าพระยายมราช” เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามสกุล “สุขุม” ให้แก่เจ้าพระยายมราช (ปั้น) เป็นสกุลแรก และในประกาศชุดแรกตามพระราชบัญญัติขนานนามสกุลนั้น นามสกุล “สุขุม” ก็ได้ถูกแสดงไว้เป็นรายการที่ 1 ด้วย
หลังจากมีการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลแล้ว การดำเนินงานขนานนามสกุลแก่ประชาชน จะมีการแบ่งท้องที่ที่จะจดทะเบียนนามสกุลทั่วราชอาณาจักร โดยมีหลักการตั้งชื่อสกุลดังนี้
- ตั้งตามชื่อของบรรพบุรุษ (ปู่ ย่า ตา หรือยาย)
- ข้าราชการที่มีราชทินนาม มักจะนำราชทินนามมาตั้งเป็นนามสกุลของตน เช่น หลวงพิบูลสงคราม (แปลก) ใช้นามสกุล “พิบูลสงคราม”
- ตั้งตามชื่อตำบลที่อยู่อาศัย
- ชาวไทยเชื้อสายจีนอาจแปลความหมายจาก “แซ่” ของตน หรือใช้คำว่าแซ่นำหน้าชื่อแซ่ หรือใช้ชื่อแซ่นำหน้า หรือสอดแทรกไว้ในนามสกุล
- หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ใช้นามราชสกุลของตนเป็นนามสกุล แต่ลูกของหม่อมหลวงและต่อไปเป็นหลาน เหลน ใช้นามราชสกุลโดยลำพังไม่ได้ ต้องมีคำว่า “ณ อยุธยา” ต่อท้าย สำหรับเชื้อพระวงศ์
- ห้ามมิให้หญิงตั้งชื่อสกุลของตนเอง ให้ใช้ของบุรุษหัวหน้าครอยครัว หรือญาติฝ่ายชายผู้มีสิทธิ์ใช้ชื่อสกุลร่วมกัน
และนอกจากการจดทะเบียนตั้งนามสกุลด้วยตนเองแล้ว ยังมีหลายนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 6 โดยจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดกับพระองค์ ได้อรรถาธิบายถึงพระปรีชาญาณในการคัดเลือกหรือตั้งนามสกุลให้เหมาะแก่ผู้รับพระราชทานนามสกุลว่า พระองค์จะทรงศึกษาถึงความเกี่ยวดองซึ่งกันและกันของแต่ละสกุล อาทิ นามของ ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา สถานที่เกิด อาชีพเดิมของบรรพบุรุษ และของผู้ขอพระราชทานนามสกุล แล้วพระราชทานคำอันเป็นมงคลและเหมาะสมให้เป็นนามสกุลเพื่อศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของผู้สืบสกุล
สำหรับการพระราชทานนามสกุลแก่ขุนนางข้าราชบริพารนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 จะทรงจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ อาทิ ผู้เคยมีรกรากเหล่ากอหรือดูแลปกครองบ้านเมืองใดอยู่ ก็ทรงขนานนามสกุลตามพื้นที่เหล่านั้น เช่น ณ ระนอง, ณ ถลาง, ณ สงขลา, ณ เชียงใหม่ หรือถ้าเป็นตระกูลทหารเก่าก็จะทรงใช้คำที่มีความหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น โยธิน, เสนีย์, ณรงค์ ส่วนคนที่มีอาชีพด้านการแพทย์ก็จะทรงใช้คำเช่น วิทย์, เวช, แพทย์ ประกอบอยู่ในนามสกุลนั้น และหากเป็นสกุลพ่อค้าก็จะมีคำว่า วาณิช ผสมอยู่ในนามสกุล หรือบางครั้งก็ทรงใช้ชื่อบรรพบุรุษของตระกูลนั้นๆ เพื่อตั้งเป็นนามสกุล เช่น บุนนาค
ส่วนผู้ขอพระราชทานนามสกุลที่มีเชื้อสายจากชาติอื่น พระองค์จะทรงพยายามแปลงจากนามสกุลภาษาต่างประเทศของต้นตระกูลนั้นๆ ให้เป็นคำไทยที่เหมาะสม และมีความหมายหรือสำเนียงที่คล้องจองกับนามสกุลเดิม อาทิ นามสกุลที่แปลงจากชื่อแซ่ของบรรพบุรุษที่เป็นคนจีน เช่น
“แซ่ตัน” นามสกุลภาษาไทยจะมีคำว่า “ตัณฑะ”
“แซ่เล้า” นามสกุลภาษาไทยจะมีคำว่า “เลาหะ”
“แซ่กิม” นามสกุลภาษาไทยจะมีคำว่า “กาญจนะ”
หรือนามสกุลที่แปลงจากชื่อนามสกุลของชาวตะวันตก เช่น
“เฮนดริกซ์” แปลงเป็นนามสกุลไทยคือ “อหันทริก”
“ลอว์สัน” แปลงเป็นนามสกุลไทยคือ “ลวสันธ์”
ทั้งหมดนี้คือเกร็ดเรื่องราวกำเนิดนามสกุลของคนไทย อันเกิดจากการมองการณ์ไกลด้วยพระราชวิสัยทัศน์อันทันสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 ที่นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ในระบบราชการสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นแนวทางหนึ่งของการจัดระเบียบสังคมตามแบบสากลอีกด้วย นับเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงของพระองค์ที่มีต่อประเทศชาติมาจนถึงปัจจุบัน