การแทรกซึมทางความคิดของ พคท. ปฐมบทแห่งการโฆษณาชวนเชื่อในยุคแสวงหา
ในปี พ.ศ. 2515 การเมืองไทยได้พลิกผันกลับสู่การยึดอำนาจของรัฐบาลทหารเป็นครั้งที่สอง ภายหลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารรัฐบาลตนเองในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2514 ทำให้ความหวังในการสร้างระบอบประชาธิปไตยของประเทศกลับเลือนรางลงอีกครั้ง
แต่อย่างไรก็ดี บรรยากาศทางการเมืองในช่วงนั้นไม่ได้กดดันเหมือนกับรัฐบาลจอมพลถนอมในช่วงแรก เพราะนักศึกษายังสามารถจัดตั้งกลุ่มต่างๆ เพื่อถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งบรรยากาศดังกล่าวเป็นผลมาจากการจุดประกายประชาธิปไตยช่วงสั้นๆ แต่สร้างผลสะเทือนแก่ผู้คนที่ตั้งคำถามและต้องการทำอะไรสักอย่างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ
ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของนักศึกษา เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้พวกเขาแสวงหาแนวทางที่น่าจะเป็นทางออก และแนวทางของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งมุ่งเน้นการทำเพื่อประชาชน ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แม้ในขณะนั้นกระแสสังคมนิยมยังไม่เฟื่องฟู แต่ก็มีร่องรอยที่สะท้อนให้เห็นว่า นักศึกษาต้องการต่อสู้ตามแนวทางของ พคท. ดังที่ จรัล ดิษฐาอภิชัย ซึ่งเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่สนใจแนวทางปฏิวัติแบบ พคท. ได้เขียนเล่าบรรยากาศในช่วงนั้นไว้ว่า …
“… แม้รัฐประหารจะผ่านไป 1 เดือนแล้ว คณะปฏิวัติก็ไม่ได้ลงมือจับกุมผู้ใด แต่การล้มเลิกระบอบประชาธิปไตยและกลับมาดำเนินระบอบเผด็จการทหาร ทำให้บรรดาผู้รักชาติรักประชาธิปไตย และนักต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมส่วนใหญ่รู้สึกหมดหวังกับแนวทางรัฐสภาและสันติ หลายคนเริ่มคิดถึงการปฏิวัติภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่กำลังดำเนินอยู่ในชนบทอย่างจริงจัง”
ความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงที่นักศึกษาเริ่มมีความหวังทางการเมือง ภายหลังที่รัฐบาลจอมพลถนอมให้มีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2512 แต่ความหวังกลับถูกดับลงอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลจอมพลถนอมได้รัฐประหารยกเลิกการทำงานในรัฐสภา ทำให้บางคนหรือบางกลุ่มเริ่มที่จะมองหาหนทางอื่นอันเป็นวิธีให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ความคิดความต้องการปฏิวัติดังกล่าว ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาเองอย่างลอยๆ หรือผ่านการเรียนรู้จากห้องเรียนอย่างเป็นทางการ แต่ต้องผ่านการรับรู้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ความคิดในการปฏิวัติของนักศึกษาบางส่วนนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ความคิดในการปฏิวัติของนักศึกษา เกิดจากกระบวนการหล่อหลอมทางความคิดแบบ พคท. ด้วยตนเอง ผ่านกระบวนการ 3 ประการ ได้แก่ การอ่าน การฟัง และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กระบวนการดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยหล่อหลอมให้นักศึกษามีความคิดแบบ พคท. กล่าวคือ มองเห็นปัญหาทางชนชั้นและความไม่เท่าเทียมในสังคม จึงต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่รัฐบาลกลับปิดกั้นมิให้ประชาชนได้ต่อสู้ตามวิถีประชาธิปไตย ดังนั้น หนทางการต่อสู้ด้วยอาวุธ และดำเนินการปฏิวัติ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและสร้างแรงดึงดูดแก่นักศึกษาและคนที่แสวงหาสังคมในอุดมคติ
ทั้งนี้ นักศึกษาที่เกิดกระบวนการหล่อหลอมทางความคิด ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การจัดตั้งของ พคท. เพราะกระบวนการดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ ซึมซับ ปฏิบัติ และการตกผลึกทางความคิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ด้วยตนเอง แนวทางการปฏิวัติของ พคท. จึงสอดรับต่อความคิดและความสนใจของนักศึกษาที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมในทิศทางที่ก้าวหน้าและเท่าเทียม ดังเช่น ประสบการณ์ของ จรัล ดิษฐาอภิชัย ซึ่งเขาได้บรรยายว่า …
“… ผมถูกกล่าวหาว่าหัวรุนแรงเป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยติดต่อกับ พคท. เลย เมื่อผมย้ายมาเรียนธรรมศาสตร์ ก็เริ่มได้ยินข่าวเกี่ยวกับ พคท. บ่อยขึ้น … ในสมัยนั้น พคท. เป็นสิ่งที่น่ากลัว ลี้ลับ แต่ทว่ากลับมีเสน่ห์ มีแรงดึงดูดต่อนักศึกษาค่อนข้างมาก ทั้งนี้ คงเป็นเพราะพวกเขาทำสิ่งที่เสียสละ เป็นอุดมการณ์ กล้าต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการเช่นเดียวกับขบวนการนักศึกษา หลายคนรวมทั้งผม จึงพยายามติดตามการเคลื่อนไหวของ พคท. ด้วยการฟังสถานีวิทยุเสียงประชาชนไทย (สปท.) อ่านเอกสาร หนังสือลัทธิคอมมิวนิสต์ และคำบอกเล่าของคนในมหาวิทยาลัยรุ่นก่อนปี พ.ศ. 2500 …”
แนวทางของ พคท. ที่มีจุดยืนเพื่อประชาชน ได้สร้างความสนใจต่อการค้นหาข้อเท็จจริงของนักศึกษา อีกทั้งสถานะที่อยู่นอกกฎหมายจึงทำให้ พคท. ดูลึกลับและน่าสนใจมากขึ้น ดังนั้น วิธีการที่นักศึกษาพยายามเข้าถึงเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจ พคท. จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการโฆษณาชวนเชื่อของ พคท. ดังที่จรัล ได้เล่าเพิ่มเติมว่า เขาเริ่มแอบฟังสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) แม้จะรู้ว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เขาก็ทำเพื่อตอบสนองความใคร่รู้ว่า พคท. ที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะการเสนอข้อมูลของ พคท. ในยุคนั้นมาจากรัฐบาลเป็นหลัก ภาพที่ได้รับเกี่ยวกับ พคท. จึงเป็นเพียงมิติเดียวที่รัฐบาลต้องการสื่อสารกับประชาชนเท่านั้น ซึ่งจรัล ได้บรรยายไว้ความว่า …
“… เมื่อย่างเข้าปี 2515 ความคิดทางการเมืองโน้มเอียงไปทางลัทธิมาร์กซ-เลนิน มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะนอกจากได้อ่านหนังสือรวมนิพนธ์ของเลนินจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว หากยังได้อ่านข้อเขียนของนักปฏิวัติไทยหรือคนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เขียนกันในปี 2500 … และที่สำคัญผมเริ่มลักลอบฟังสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ และสถานีวิทยุปักกิ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งถือว่าต้องห้าม และผิดกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ …”
นอกจากการอ่านและการฟัง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการจุดประกายความคิดปฏิวัติของนักศึกษาจำนวนหนึ่งแล้ว การก่อตั้งกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มอิสระต่างๆ ก็ได้นำพาไปสู่กระบวนการหล่อหลอมทางความคิดอีกด้วย การร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษาทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัยที่พวกเขาดำเนินการกันเอง ได้ส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสสัมผัสกับชีวิตที่เป็นจริงของคนหลากหลายกลุ่ม ได้รับรู้สภาพที่เป็นจริงของสังคม และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาความคิดภูมิปัญญาของนักศึกษาในเวลานั้นเป็นอย่างมาก
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อดีตนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เคยให้ความเห็นว่า ฐานสำคัญที่รองรับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาตั้งแต่ก่อนกรณี 14 ตุลาคม 2516 มาจากความเฟื่องฟูของกิจกรรมนักศึกษาในลักษณะใหม่ คือ มีการจัดตั้งกลุ่มอิสระต่างๆ ที่มีเป้าหมายทางการเมืองและสังคมเกิดขึ้นแทบทุกมหาวิทยาลัย ได้แก่ กลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, สภากาแฟ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กลุ่มวลัญชทัศน์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และชมรมคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยกลุ่มอิสระเหล่านี้ เป็นตัวการสำคัญในการสร้างกระแสทางการเมืองในหมู่นักศึกษา ดังเช่น กรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เมื่อคราวที่จอมพลถนอม ทำรัฐประหารรัฐบาลตนเอง ที่มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งนำหรีดไปวางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเป็นการไว้อาลัยนั่นเอง
ทั้งหมดนี้ คือปฐมบทแห่งการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ความคิดของ พคท. ให้กับเหล่านักศึกษา ในยุคสมัยแห่งการแสวงหาและห้วงเวลาของการต่อต้านอำนาจรูปแบบเดิม ประกอบกับการนำเสนอข้อมูลของรัฐบาลที่ทำให้มองเห็นภาพ พคท. เพียงแค่ด้านเดียว กลับส่งผลให้ พคท. เข้าถึงความคิดของนักศึกษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และทั้งหมดได้หลอมรวม ฝังราก จนกระทั่งสร้างอิทธิพลและส่งผลถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยในเวลาต่อมา
รวมบทความเรื่องปฏิบัติการของ พคท. ในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516
1. การแทรกซึมทางความคิดของ พคท. ปฐมบทแห่งการโฆษณาชวนเชื่อในยุคแสวงหา
2. ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ เปิดวิธีการแทรกซึมของ พคท. ในอดีต เทียบกับวิธีของนักปลุกระดมยุคปัจจุบัน
3. การรุกคืบครอบงำนักศึกษาของ ‘พรรคคอมมิวนิสต์ไทย’ หลัง 14 ตุลา 2516
4. ปฏิบัติการคอมมิวนิสต์ กระจกสะท้อนการถูกชี้นำในปัจจุบัน ที่ขาดการประนีประนอมเพื่อผลทางการเมือง จนเกิดภาวะถูกโดดเดี่ยว
5. ‘ย้อนเกล็ดคอมมิวนิสต์’ เมื่อรัฐใช้การต่อสู้ทางความคิด จนพิชิตปัญหาความขัดแย้งลงได้
ที่มา :
[1] จรัล ดิษฐาอภิชัย, ก่อนจะถึง 14 ตุลา, (กรุงเทพฯ: เมฆขาว, 2546), 106, 111, 218-210
[2] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ. 2513 – 2519
ศึกษาจากผู้ปฏิบัติงาน, (กรุงเทพฯ: สานักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย, 2556), 10-11.