การหมกเม็ดและพูดไม่หมดของนักวิชาการบางคน เพื่อกล่าวหาในหลวงว่าแทรกแซงรัฐธรรมนูญ
หลังจากเกิดความโกลาหลและความเสี่ยงขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤตการเมืองของการปะทะกันระหว่างมวลชนฝ่าย กปปส. และมวลชน “เสื้อแดง” ทำให้สังคมการเมืองไทยได้แตกฉานร้าวหนักลงไปมากกว่าเดิม ในที่สุดเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงและยุติเหตุการณ์ทั้งหมด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้ทำการยึดอำนาจหลังความพยายามในการโน้มน้าวให้ฝ่ายต่างๆ เจรจาร่วมกัน
การยึดอำนาจในครั้งนี้เฉกเช่นกับการยึดอำนาจที่ผ่านมา คือ พ.ศ. 2549 ที่มีโจทย์สำคัญอย่างการพยายามสร้างให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพให้ได้ เครื่องมือที่ถูกใช้และเชื่อว่าจะสามารถนำไปสู่การสร้างเสถียรภาพได้นั่นก็คือกลไกทางการอย่างรัฐธรรมนูญ หรืออย่างน้อยรัฐธรรมนูญก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตกลงในเรื่องของอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางสังคมได้ ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2554 ที่แม้จะผ่านความรุนแรงทางการเมืองมาแต่การเลือกตั้งนี้กลับไม่เกิดความรุนแรงหรือการสูญเสียที่น่ากังวลใจเลย [1]รัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกคาดหวังจากสังคมมากขึ้นในการประสานไทยไว้ด้วยกัน
หลังการยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2557 ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ (ที่ต่อมาจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560) มีความล่าช้าเกิดขึ้นเนื่องจากการแก้ไขเนื้อหาและการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ทำให้การประกาศใช้ล่าช้ากว่าที่คิด แต่ทั้งนี้ก็สามารถประกาศใช้ได้และเป็นเครื่องมือที่พยายามจุดดุลยภาพระหว่างสถาบันการเมืองไทยใหม่อีกครั้ง
เราน่าจะจำกันได้ว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่นี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มีการจัดทำประชามติเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 การทำประชามตินี้จึงเกิดขึ้นอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อไม่ให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่อีก (ซึ่งความจริงแล้วรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นั้นก็ถูกยอมรับโดยพฤตินัยในระดับหนึ่ง สาเหตุของการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญนั้นมาจากปัญหาในแวดวงการเมืองในรัฐสภาที่เป็นตัวกระตุ้นเหตุการณ์ทั้งหมด)
การร่างรัฐธรรมนูญเมื่อร่างเสร็จและนำไปให้ประชาชนลงมติ ผลปรากฏว่าประชาชนส่วนมากราวร้อยละ 60 เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หลังจากนั้นจึงได้ถวายให้รัชกาลที่ 10 ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อเสร็จแล้วจึงประกาศใช้อีกครั้ง [1]
ในการแก้ไขจากพระราชกระแสของพระองค์ทำให้หลายฝ่ายได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่ารัชกาลที่ 10 ทรงแทรกแซงการเมืองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการทำประชามติมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำวิจารณ์ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งระบุไว้อย่างดุเดือดว่า
“กษัตริย์อาจมีอำนาจมากกว่ายุคสมัยใดหลังสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจนี้จะไม่ได้อยู่ที่กลไกปกติของฝ่ายเจ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่สถาบันกษัตริย์เข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองอีกด้วย ซึ่งมีตัวอย่างแล้วจากการที่รัชกาลที่ 10 ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งรัฐบาลก็ทำตามพระประสงค์ ดูเหมือนว่าประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมภายใต้รัฐธรรมนูญนี้จะสลัดเสื้อคลุมประชาธิปไตยออกและเผยโฉมราชอาณาจักรกึ่งราชาธิปไตยให้เห็นจะๆ แจ้งๆ” [1]
กรณีนี้อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ได้ตั้งประเด็นไปถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเอาไว้ด้วย[1] ดังนั้น ฤา จึงเห็นควรที่จะต้องกล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เอาไว้เพื่อให้ไม่ต้องตีความไปไกลถึงการมี “ราชอาณาจักรกึ่งราชาธิปไตย”
รัฐธรรมนูญนั้นมีเป้าหมายสำคัญในการจัดการสถาบันทางการเมืองและการคุ้มครองประชาชนในประเทศ ดังนั้นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญนั้นจึงเป็นการวางอำนาจทั้งทางนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการให้ได้ดุลเพื่อคุ้มครองประชาชนซึ่งหมายถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพอันเป็นสาระสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนโดยตรงหรือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการคุ้มครองประชาชนจากรัฐ [1] ดังนั้นประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพจึงเป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่หากมีการแก้ไขใดๆ ที่กระทบกับสาระสำคัญนี้จะต้องมีการทำประชามติ
เมื่อดูประเด็นที่พระราชกระแสให้แก้ไขนั้นพบว่ามีดังนี้ (1) แก้ไขมาตรา 12 โดยบุคคลที่เป็นข้าราชการจะไม่สามารถเป็นองคมนตรีได้ยกเว้นเป็นข้าราชการในพระองค์ (2) แก้ไขมาตรา 15 ให้การแต่งตั้งและให้ข้าราชในพระองค์พ้นจากตำแหน่งเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยโดยตัดคำว่า “และสมุหราชองครักษ์” (3) มาตรา 16 แก้ไขว่าหากพระมหากษัตริย์ไม่ได้ประทับในราชอาณาจักร หรือบริหารพระราชภาระไม่ได้จะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนหรือไม่ก็ได้ (4) มาตรา 17 มีการเพิ่มเติมว่าหากองคมนตรีเห็นควรว่าจำเป็นต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแต่ไม่อาจกราบบังคมทูลได้ทันการ สามารถเสนอชื่อตามลำดับที่โปรดเกล้าฯ ไว้และแจ้งประธานรัฐสภา (5) มาตรา 19 เรื่องการปฏิญาณตน (6) มาตรา 172 ได้ตัดคำซ้ำซ้อนเรื่องการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการออก แต่เนื้อหาเหมือนเดิมทุกประการ
จะเห็นได้ว่าเนื้อหาที่รัชกาลที่ 10 ทรงให้มีการแก้ไขนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพที่กระทบต่อชีวิตของประชาชน และไม่ส่งผลประทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด ดังนั้นการแก้ไขส่วนนี้จึงเป็นพระราชอำนาจทั่วไปในพระองค์จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงประชามติอีกครั้ง และการลงประชามติอีกครั้งจะยิ่งทำให้ล่าช้าและเสียงบประมาณจำนวนมากอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าประชาชนยังคงเป็นผู้มีอำนาจยืนยันรัฐธรรมนูญที่จะใช้โดยที่รัชกาลที่ 10 มิทรงได้แทรกแซงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ มิหนำซ้ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีการเพิ่มการคุ้มครองเสรีภาพอีกหลายประการในหมวดที่ 5 ซึ่งระบุว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำตาม ฉะนั้นกรณีนี้จึงไม่ใช่ “ราชอาณาจักรกึ่งราชาธิปไตยให้เห็นจะๆ แจ้งๆ” แต่อย่างใด และหากเรากล่าวว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมนุษย์เช่นกันแล้ว มนุษย์คนนี้ก็ควรจะมีสิทธิในการออกความเห็นในประเด็นที่เป็นสิทธิของตนมิใช่หรือ?
ที่มา :
[1] โปรดดูการศึกษาใน ประจักษ์ ก้องกีรติ, เลือกตั้งไม่นองเลือด : ความรุนแรง ประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2556).
[2] ข่าวจากประชาไท เรื่อง “รัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติ เรื่องพระราชอำนาจ”
[3] ธงชัย วินิจจะกูล, รัฐราชาชาติ: ว่าด้วยรัฐไทยในปัจจุบัน (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2563), หน้า 130.
[4] โปรดดู ปิยบุตร แสงกนกกุล, กฎหมายรัฐธรรมนูญ: การก่อตั้งรัฐธรรมนูญละการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563), ภาคที่ 1 บทที่ 2.
[5] ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์, ทฤษฎีสิทธิขั้นพื้นฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2562), หน้า 50-67.