จากบทความที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึง การสักขาลาย หรือ การสักขาก้อม ของทางภาคอีสาน ซึ่งได้เปรยไว้ตอนท้ายว่า การสักขาลายนั้นไม่ได้นิยมแต่ในภาคอีสานสมัยโบราณเพียงเท่านั้น หากแต่พบว่ามีการนิยมสักขาลายในหลาย ๆ ชาติพันธุ์ ที่พบกระจายตัวตาม อุษาคเนย์ นับได้ว่าเป็น “วัฒนธรรมร่วม” ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งเลย
การสักขาลาย เกิดขึ้นได้อย่างไร
ในทางประวัติศาสตร์พบร่องรอยในการสักยันต์หรือรูปร่างลักษณะลงในผืนหนังของมนุษย์เก่าสุดที่ค้นพบในปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 พันปีที่แล้ว โดยการสักนั้นบางหลักฐานก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าสักเป็นรูปอะไร แต่ก็มีหลาย ๆ หลักฐานที่ส่อว่ามีการนิยมสักรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่น่าจะอาศัยอยู่ใกล้เคียงกับถิ่นฐานของกลุ่มคนที่สัก สะท้อนให้เห็นถึงภาพของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเหล่านั้นและความผูกพันธ์กับสัตว์ อีกทั้งในประวัติศาสตร์กรีก อียิปต์ ก็พบเรื่องของการสัก แสดงให้เห็นว่าการสักในโลกแถบ ๆ นี้ต้องมีมาก่อนยุค กรีก-โรมัน และอียิปต์ แล้ว
ถัดมาในอุษาคเนย์ หรือ ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราการสักก็เป็นที่นิยมเช่นกัน ส่วนมากการสักจะเน้นไปที่ความศักดิ์สิทธิ์ อย่างในสมัยก่อนการที่ทหารจะออกไปรบเขาก็จะมีการสักยันต์ เพื่อช่วยเรื่องความคงกระพันชาตรี การสักเลขของพวกทาส เพื่อบอกสังกัดของเจ้านายนั้น ๆ ทั้งในจดหมายเหตุลาลูแบร์ (Simon de La Loubèr) ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เข้าในกรุงศรีอยุทธยาก็ได้กล่าวถึงการสัก ทำให้เราเห็นว่าการสักในไทยมีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยาแน่ ๆ
และตำนานหลาย ๆ ท้องที่เรื่องของที่มาของการสักก็ไปเกี่ยวพันกับศาสนาเสียส่วนใหญ่ เช่น บางพื้นที่ในประเทศไทยก็มีเรื่องเล่าความเป็นมาของการสักว่า ในสมัยที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน กษัตริย์เมืองต่าง ๆ ก็ต่างเดินทางมาแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จนสุดท้ายก็มี โทณพรามหณ์เข้ามาไกล่เกลี่ยและแบ่งพระธาตุให้นครต่าง ๆ
กษัตริย์แถบยูนนานก็เข้าไปทูลขอพระบรมสารีริกธาตุจากกษัตริย์เมืองกุฉินารายณ์ แต่ปรากฏว่าขณะนั้นไม่มีพระธาตุเหลือแล้ว เหลือแต่พระอังคาร กษัตริย์แถบยูนนานจึงเอากลับไปเมืองของตน พอถึงเมืองพระอังคารก็ได้เข้าไปแทรกซึมในตัวมนุษย์แล้วจึงมีอานุภาพทำให้ร่างกายของมนุษย์นั้นเกิดความคงกระพันชาตรี ( นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่าง ตำนานหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการผูกเรื่องการสักเข้ากับเรื่องความเชื่อศาสนาเพียงเท่านั้น ยังมีอีกหลายตำนาน ที่ไม่สามารถยกเข้ามาอธิบายในบทความเดียวได้ แต่ละพื้นที่ก็มีตำนานของตนเองที่แตกต่างกันออกไป )
และเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการสักในอุษาคเนย์คือ การสักขาลาย อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนอุษาคเนย์โดยแท้จริง เนื่องจากพบการสักในลักษณะนี้เยอะในแถบล้านนา – อีสาน และพื้นที่อื่น ๆ ใกล้เคียงทั้งรวมไปถึง ชาวปกาเกอะญอ อีกด้วย
การสักนั้นสักด้วยน้ำว่านผสมเขม่าและโดยเฉพาะสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือดีของสัตว์ต่าง ๆ การสักจะมีการไหว้ครูโดยยกขันครูก่อน ในขันครูก็จะมีของเซ่นไหว้เช่น หมากพลู ยาสูบ เงิน น้ำหมึก ฯลฯ เป็นต้น
ในการสักจะมีการผูกแขนด้วยฝ้ายก่อน บางสำนักก็ผูกก่อนหน้าจะสัก บางสำนักก็ผูกหลังการสักแล้วแต่สำนัก โดยในระหว่างสักจะมีการสูบฝิ่น เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ซึ่งทำให้เราเห็นถึงภูมิปัญญาของคนในอดีตที่คิดวิธีบรรเทาความเจ็บปวดในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่เข้าถึงชาวชนบทได้เป็นอย่างดี
การสักขาลายจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ไม่มีการกำหนดรูปแบบที่ตายตัว เช่นอีสานบางส่วนอาจจะแตกต่างจากทางล้านนา
ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ หลาย ๆ เรื่องได้เขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว ผู้เขียนจึงไม่ขอกล่าวซ้ำอีก
บทความก่อนหน้าเรื่อง “การสักขาลาย ร่องรอยของความเท่ ของบุรุษเพศ ในอีสานสมัยโบราณ“
ลูกป้อจายขาบ่ลาย ก่ออายเขียด
คำกล่าวข้างต้น แปลเป็นภาษากลางได้ว่า
“ลูกผู้ชายขาไม่ลาย ก็อายเขียด” คำกล่าวนี้มิได้พบแต่ในแถบภาคเหนือเพียงเท่านั้น ยังพบคำกล่าวที่มีลักษณะคล้ายกันอยู่นี้ในแถบที่ราบสูงอีสานอีกด้วย ซึ่งเป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นภาพของค่านิยมผู้คนของผู้คนแถบอีสาน – เหนือ ได้เป็นอย่างดี ( ซึ่งในทางประวัติศาสตร์แล้วนั้น ล้านช้าง กับ ล้านนา มีความสัมพันธ์ในเชิงการปกครอง และด้านอื่น ๆ มาช้านาน การที่จะมีวัฒนธรรมที่เหมือนกันก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก ) กล่าวคือ การสักขาลาย ยังเป็นบทพิสูจน์ของการเป็นชายแท้อกสามศอกอีกด้วย ( ดังที่กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้าถึงความอดทนและความเจ็บปวดในการสักแต่ละครั้ง )
นอกจากนี้ชายใดที่มีลายสักที่ขา ยังแสดงให้เห็นถึงความเท่ หล่อเหลาจนนารีต่างหมายปอง อยากได้มาเป็นสามี พ่อของลูก เป็นลำดับแรกกันทั้งนั้น
การสักขาลายในประวัติศาสตร์ล้านนาก็ปรากฏในภาพจิตรกรรม วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ วัดภูมินทร์ จ.น่าน อีกทั้งยังปรากฏเรื่องของ “ท้าวขาก่าน” เจ้าเมืองฝาง/น่าน/เชียงแสน ในหลักฐานของทางล้านนาก็กล่าวถึงว่า ท่านเป็น “ที่น่าอัศจรรย์” เนื่องจากขาของท่านนั้นมีการสักด้วยน้ำหมึก ลายพญานาค และลายเครือวัลย์ยาวไปจนถึงน่องขาของท่าน จึงได้ชื่อว่า “ท้าวขาก่าน” ซึ่งมีความหมายนัยยะว่าเป็นผู้มีลายสักที่ขา ( ก่านมีความหมายคล้าย ๆ กับคำว่า “ด่าง” ซึ่งพบในทั้งภาคอีสาน และ ทางภาคเหนือ )
ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( ร.๕ ) คาร์ล บ็อค ( Carl Bock ) นักเขียน นักสำรวจ ชาวนอร์เวย์ ได้เดินทางเข้ามาสำรวจประเทศสยามในขณะนั้น เมื่อเดินทางไปถึงเมืองลำปาง ก็พบว่ามีการพบช่างสักที่กำลังสักให้กับชายที่นอนราบติดกับพื้น และได้ถอดเป็นภาพออกมาในผืนกระดาษ โดยหลักฐานนี้ทำให้เราเห็นรอยสักการสักขาลายของชาวล้านนาในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งในภาพมีการสักรูปสัตว์ ราชสีห์ เสือ ช้าง ลิง นก ค้างคาว และหนุมาน รวมถึงรูป ลม เมฆ ฯลฯ
การสักของพวกปกาเกอะญอ
การสักของพวกปกาเกอะญอก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองเช่นกัน หากเราดูจากลายสักของผู้เฒ่าปกาเกอะญอจะพบว่า ผู้เฒ่าส่วนใหญ่จะนิยมสัก “ปะลู” ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยเราข้ามแม่น้ำไปสู่ภพภูมิที่ดี
ความเสื่อมความนิยม
ขาลายในปัจจุบันโดยเฉพาะภาคอีสาน-เหนือของไทย จะพบว่าการสักนี้จะมีแต่เพียงในเรือนร่างของผู้เฒ่าอายุ 50 ขึ้นไปเท่านั้น เป็นเพราะวัฒนธรรมการสักขาลายนั้นเสื่อมความนิยมลง คาดว่าน่าจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น เพราะการมองการสักที่เปลี่ยนไป มองว่าคนที่สักเหล่านั้น เป็น อันธพาลบ้าง เป็นนักเลงบ้าง จนการสักค่อย ๆ ลดความนิยมลง อีกทั้งประกอบกับการสักแต่ละครั้งต้องใช้ความอดทนเนื่องจากได้รับความเจ็บปวดอย่างยิ่ง อีกทั้งวัฒนธรรมอื่นได้แผ่เข้ามา มีลายสักที่หลากหลายมากขึ้น ตัวเลือกการสักจึงมีมากกว่าเดิม
แต่หลาย ๆ ชนเผ่าเช่น ปะกาเกอะญอ ก็ยังมีคนหลายกลุ่มคงการสักขาลายแบบดั้งเดิมไว้อยู่ แต่ก็เริ่มเลือนรางลงไปเรื่อย ๆ และเกือบจะไม่มีให้ได้พบเห็นแล้ว ดั่งอุปมาโบราณสถานใหญ่ ๆ หลาย ๆ ที่ ที่อาจจะเคยใหญ่โต รุ่งเรือง เปี่ยมล้นด้วยศรัทธาของผู้คน เมื่อเวลาผ่านไป การมองหรือทรรศนะของผู้คนก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เหลือไว้เพียงความเป็นมรดกให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา
อ้างอิง :
[1] เมฆา วิรุฬหก , ศิลวัฒนธรรม , ตำนานความเชื่อเรื่อง “รอยสัก” มาจากอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธเจ้า , สืบค้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ 2566
[2] urbancreature , ศราวุธ แววงาม ชาว punk ที่ผันเป็นช่างสักขาลาย อนุรักษ์รอยสักล้านนาโบราณที่แทบสาบสูญ , สืบค้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ 2566
[3] adenaa , ประวัติศาสตร์แห่งรอยสัก Magazine , สืบค้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ 2566
[4] จดหมายเหตุลาลูแบร์ , สืบค้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ 2566
[5] ประวัติศาสตร์นอกตำรา , สักขาลาย รอยประวัติศาสตร์ผ่านน้ำหมึก ที่เริ่มเป็นเพียงภาพจำของอดีต , สืบค้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ 2566