การริเริ่ม ‘ปลดล็อคท้องถิ่น’ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่หลายคนอาจยังไม่รู้
เรื่องการประชาภิบาล (Municipality) เป็นแนวพระราชดำริที่สำคัญอีกประการหนึ่งของในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชกระแสถึงเสนาบดีมหาดไทย คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ตั้งแต่ปีแรกที่ขึ้นครองราชย์สมบัติ ว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะปรับปรุงการสุขาภิบาล ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เสียใหม่ เพื่อพัฒนา “การปกครองท้องถิ่น” ให้มีประสิทธิภาพ
พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ทุกฝ่ายพิจารณาเรื่องการประชาภิบาลกันใหม่โดยเร็ว และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ 2470 ที่ประชุมอภิมนตรีสภาได้มีมติเสนอ ให้ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ โดยให้นายอาร์.ดี.เครก (R.D. Craig) ที่ปรึกษากรมทะเบียนที่ดิน เป็นประธานกรรมการ ร่วมกับข้าราชการชาวสยามอีก 3 คน
คณะกรรมการชุดนี้ได้ไปตรวจดูการสุขาภิบาลในหัวเมือง และการเทศบาลในประเทศอาณานิคมต่างๆ คือ ชวา สิงคโปร์ ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ เสร็จแล้วได้ทำรายงานทูลเกล้าถวายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2471 ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วนพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงหนังสือราชการกำกับรายงานดังกล่าว โดยทรงเห็นว่าควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างระมัดระวังอย่างที่สุด โดยเน้นหนักเรื่องความมั่นคงและไม่กระทบกระเทือนต่อระบบราชการในปัจจุบันเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด ซึ่งเรื่องนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชกระแสตอบบันทึกรายงานของคณะกรรมการชุดนี้ ความว่า …
“รายงานนี้เห็นว่าทำดีมาก เรื่องที่แนะนำให้จัดการนั้น ฉันมีความเห็นพ้องด้วยเป็นส่วนมาก และในชั้นต้นนี้ก็หาได้มีความประสงค์ให้ทำอะไรไปมากกว่าที่กรรมการเสนอขึ้นมา ที่จริงไม่ได้จะให้มีการโหวตเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าให้มีได้สำหรับเมืองโตๆ ก็อาจเป็นประโยชน์ดี สำหรับกรุงเทพฯ นั้นน่าจะคิดไว้เหมือนกัน เห็นว่าทำตามรูปคล้ายสิงคโปร์และฮ่องกง เลือกระเบียบที่เหมาะระหว่างสองเมืองนั้นก็น่าจะทำได้”
จากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรายงานฉบับดังกล่าวให้ที่ประชุมเสนาบดีสภาพิจารณา ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2471 และทรงมีพระราชดำรัสในที่ประชุมว่า …
“รายงานของกรรมการนี้เป็นแต่ Preliminary Report (รายงานเบื้องต้น) เท่านั้น จะต้องทดลองกันต่อไปอีก ถ้าทดลองทำได้ในเมืองใหญ่เช่นนครปฐมจะดี เพื่อฝึกหัดข้าราชการและประชาชน หมายความว่าในระดับต่อไปก็คงเป็นภาระหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ตั้งอธิบดีกรมนคราทร สมุหพระนครบาล อธิบดีกรมสาธารณสุข เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้”
ต่อมาคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณารายงานของนายอาร์.ดี.เครก เรื่องเทศบาลในกรุงเทพมหานคร โดยได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมแนวทางให้มีความละเอียดและเหมาะสมมากขึ้น อาทิเช่น การเลือกกรรมการเทศบาลจากผู้เสียจังกอบ ได้มีการกำหนดแนวทาง ให้กรรมการเทศบาลควรเป็นผู้แทนผู้มีส่วนได้เสียในการเทศบาล มิใช่ตัวแทนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือชนชาติใดชาติหนึ่ง และผู้เสียงจังกอบควรมีสิทธิ์เข้ามารับฟังการปรึกษาหารือในสภาได้
อนึ่ง เกี่ยวกับเรื่อง “รายได้ของเทศบาล” นั้น ทางคณะกรรมการก็ได้ปรับปรุงแก้ไขแนวทางต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะความเห็นของนายอาร์.ดี.เครก ที่บันทึกลงในรายงานว่า “ไม่มีความหวังว่ากรุงเทพฯ จะเลี้ยงตัวเองได้” เรื่องนี้ทางคณะกรรมการไม่เห็นด้วย และเชื่อแน่ว่า “กรุงเทพฯ จะเลี้ยงตัวเองได้อย่างบริบูรณ์”
ดังนั้น คณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทย จึงได้เพิ่มหลักการขึ้นอีกข้อหนึ่งว่า “การประชาภิบาลควรจะต้องเลี้ยงตัวเองได้ด้วย” และถวายรายงานแก่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งหลักการที่เพิ่มขึ้นนี้ ตรงตามพระราชประสงค์และเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างมาก ดังที่พระองค์ทรงมีพระราชกระแสไว้ว่า …
ข้าพเจ้าอยากเห็นกรุงเทพฯ มี Municipality และเลี้ยงตัวเองได้ก่อนข้าพเจ้าสิ้นชีวิต
อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทยมีข้อเสนอว่า เรื่องนี้ควรทำโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้น ดังนั้น จึงมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าที่ประชุมเสนาบดีในเดือนมกราคม พ.ศ. 2473 นั่นคือ “ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 247…” ซึ่งถือเป็นกฎหมายว่าด้วย “การปกครองท้องถิ่น” (Local Government) ที่แท้จริงฉบับแรกของสยาม
แต่ปรากฏว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกคัดค้านโดยกระทรวงการต่างประเทศ โดยให้เหตุผลว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ยังไม่มีความรัดกุม เพราะมีการให้สิทธิทางการเมือง (political right) แก่ชาวต่างชาติเท่ากับคนสยาม กล่าวคือ ให้สิทธิแก่ทุกคนที่อยู่ในสยามไม่น้อยกว่า 15 ปี และเสียภาษีในอัตราหนึ่ง เป็นผู้ที่มีสิทธิทางการเมือง
การอนุญาตเช่นนี้เป็นอันตราย เพราะว่าในเมืองสยามเวลานั้นยังมีคนต่างด้าวที่สวามิภักดิ์ต่อประเทศอื่น อีกทั้งไม่ได้เป็นคนในบังคับของสยาม และมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบกลุ่มหรือสมาคมอยู่มาก คนพวกนี้เป็นพวกที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ หากเสียภาษีมากก็ย่อมขึ้นมามีสิทธิ์ทางการเมืองได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ต่อมาได้มีการส่งเรื่องร่างพระราชบัญญัติเทศบาลนี้เข้าที่ประชุมกรรมการองคมนตรีสภาในอีกทางหนึ่ง เพื่อสอบถามความคิดเห็น แต่เนื่องจากการประชุมของกรรมการองคมนตรีสภาในขณะนั้นมีอยู่น้อยครั้งมาก คือแทบไม่มีการประชุมอยู่เลยก็ว่าได้ จึงมีพระราชกระแสให้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปให้กรมร่างกฎหมายพิจารณาเทียบเคียงกับหลักการของประเทศที่เป็นอิสระอย่างเช่น ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นดูก่อน เพื่อนำมาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติให้มีความเหมาะสม แล้วให้กรมร่างกฎหมายทำความเห็นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2474 กรมราชเลขาธิการได้ทำหนังสือสอบถามกรมร่างกฎหมายว่าได้พิจารณาเทียบเคียงกับหลักการกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศสแล้วเสร็จหรือยัง กรมร่างกฎหมายตอบกลับมาว่า มีปัญหาอยู่มากเกี่ยวกับการแปลกฎหมายญี่ปุ่น
และต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 กรมร่างกฎหมายได้ตอบชี้แจงว่ามีร่างพระร่างพระราชบัญญัติภาษีอากรอยู่หลายฉบับซึ่งต้องทำเป็นการด่วนก่อนเรื่องอื่น จึงขอผัดผ่อนเรื่องพระราชบัญญัติเทศบาลไปอีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ตราบจนถึงวาระสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ยังคงไม่มีพระราชบัญญัติการประชาภิบาลประกาศใช้
จะเห็นได้ว่า พัฒนาการของแนวคิดการกระจายอำนาจในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีการนำเอา “การปกครองท้องถิ่น” มาเป็นสถาบันการเมืองการปกครอง ที่ใช้ฝึกให้ประชาชนในระดับล่างได้เข้าใจและเรียนรู้วิธีการที่จะปกครองตนเอง
มีการนำแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจ (Decentralization) มาใช้เป็นรูปแบบในการจัดโครงสร้างการปกครองแบบเทศบาล (สภา-คณะเทศมนตรี) เพื่อให้มีความคล้ายคลึงกับการจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมืองในระดับชาติ ซึ่งมีแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบรัฐสภา (Parliamentary System) เป็นลำดับต่อไป
ทว่าเป็นที่น่าเสียดาย ที่การปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงดำริขึ้นนั้น กลับมิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเสียก่อน
กระนั้นในเวลาต่อมา แนวพระราชดำริในเรื่อง “การประชาภิบาล” เพื่อพัฒนาการปกครองท้องถิ่นของพระองค์ กลับมีอิทธิพลต่อการบัญญัติหลักการกระจายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
และเป็นที่น่าสังเกตว่า พระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 7 นั้น มีความเป็นเสรีนิยมอย่างมาก แตกต่างไปจากบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ต่างมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์แน่วแน่ที่จะมอบอำนาจการปกครองแบบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน
ที่มา :
[1] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475
[2] นพพล อัคฮาด “มอง” หลักการปกครองท้องถิ่นในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 “ย้อน” แนวพระราชดำริการจัดตั้ง “การประชาภิบาล” ในสมัยรัชกาลที่ 7