การพิจารณาคดีลับ คือความดำมืดของ ม.112 เรื่องโกหกคำโตของผู้ที่ไม่ยอมรับกฎหมาย
ปัจจุบันนี้มีแกนนำม็อบหลายคนที่ถูกดำเนินคดีในความผิดมาตรา 112 โดยอยู่ในระหว่างขั้นตอนพิจารณาคดี และจากข่าวจะเห็นได้ว่าเป็น “การพิจารณาคดีโดยลับ” ซึ่งหลายคนอาจยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้และเกิดการตีความไปต่าง ๆ นานา
สุดท้ายคำว่า “การพิจารณาคดีโดยลับ” ก็ถูกนำไปใช้ “บิดเบือน” จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นการพิจารณาคดีหรือสืบพยาน “ลับหลังจำเลย” ทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดมาตรา 112 ไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาใด ๆ และกลายเป็นความดำมืดของกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งความเข้าใจทั้งหมดนี้เป็นเรื่อง “ไม่ถูกต้อง”
เพราะ “การพิจารณาคดีโดยลับ” เป็นหลักการที่ใช้โดยทั่วไปในการพิจารณาคดีอาญาอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้เฉพาะเจาะจงแต่คดีมาตรา 112 เท่านั้น โดยในขั้นตอนพิจารณาคดี โจทก์ จำเลย และทนายทั้งสองฝ่าย ล้วนแล้วแต่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาคดีทั้งสิ้น และจำเลยก็ไม่ได้เสียสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้แต่ประการใด ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นข้อกฎหมายที่ถูกกำหนดไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 178 ไม่ใช่เรื่องลับดำมืดใด ๆ ทั้งสิ้น
หากพูดถึงหลักการพิจารณาคดีอาญาในศาล การพิจารณาหรือสืบพยานต่าง ๆ จะต้องกระทำโดยเปิดเผย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ได้บัญญัติไว้ว่า
“การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผย ต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
ซึ่งการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยนี้ ก็เป็นไปเพื่อความโปร่งใส ยุติธรรม และให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ได้บัญญัติต่อไปอีกว่า
“ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เมื่อเห็นสมควรโดยพลการ หรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใด แต่ต้องเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ มิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน”
ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการพิจารณาคดีโดยลับ ไม่ได้ใช้เฉพาะเจาะจงแต่คดีมาตรา 112 เท่านั้น แต่ เป็นหลักการที่ใช้โดยทั่วไปในการพิจารณาคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นคดีความผิดทางเพศ ที่มีความจำเป็นต้องมีการสืบพยาน ในประเด็นที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้เสียหายก็ดี หรือแม้แต่คดีฆาตกรรมทารุณโหดร้าย ที่มีประเด็นสืบพยานถึงพฤติกรรมการลงมือฆ่าของจำเลยก็ดี เหล่านี้แม้จะเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคม แต่หากศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผย ก็อาจมีความสุ่มเสี่ยง ที่พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จะเป็นปัจจัยเร่งเร้าอารมณ์ของสังคม ซึ่งจะส่งผลเสียหายแก่รูปคดีและกระบวนการยุติธรรมโดยรวม หรือแม้กระทั่งส่งผลเสียหายแก่ตัวจำเลยเอง
กลับมาที่การกล่าวหาว่า ในคดีความผิดมาตรา 112 ศาลจะสั่งพิจารณาคดีโดยลับ นั่นคือ ลับหลังจำเลย ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาใด ๆ เป็นความดำมืดและเป็นปัญหาของมาตรา 112 นั้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ความเท็จ” ทั้งสิ้น
เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 178 ได้กำหนดเงื่อนไขรายละเอียดของผู้ที่จะต้องอยู่ในห้องพิจารณาคดีเอาไว้แล้ว แม้ศาลจะสั่งให้คดีนั้น ๆ พิจารณาเป็นการลับก็ตาม โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 178 ได้ให้หลักเกี่ยวกับการพิจารณาคดีโดยลับไว้ว่า
เมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ บุคคลเหล่านี้เท่านั้น มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ
(1) โจทก์และทนาย
(2) จำเลยและทนาย
(3) ผู้ควบคุมตัวจำเลย
(4) พยานและผู้ชำนาญการพิเศษ
(5) ล่าม
(6) บุคคลผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจากศาล
(7) พนักงานศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ศาล แล้วแต่จะเห็นสมควร
จากข้อ (2) และข้อ (4) จะเห็นได้ว่า จำเลย ทนายความ พยานของจำเลย ล้วนแล้วแต่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาคดีทั้งสิ้น แม้ศาลจะสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับก็ตาม จำเลยไม่ได้เสียสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้แต่ประการใด ซึ่งข้อหามาตรา 112 ก็เป็นความผิดอาญา และใช้หลักเกณฑ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่นเดียวกับคดีอาญาข้อหาอื่น ๆ ด้วย
และจากหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 นั้น กฎหมายก็บัญญัติเอาไว้ว่า การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผย ต่อหน้าจำเลย ดังนั้น คำว่าพิจารณาคดีโดยลับ จึงไม่ใช่การพิจารณาคดีลับหลัง หรือสืบพยานลับหลังจำเลย ที่จำเลยจะไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาใด ๆ ทั้งสิ้น
ประการสุดท้าย พฤติการณ์ของข้อหามาตรา 112 คือ จำเลยกล่าวดูหมิ่น จำเลยหมิ่นประมาท จำเลยแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง หากข้อความดูหมิ่น ข้อความหมิ่นประมาท หรือพฤติการณ์แสดงความอาฆาตมาดร้าย ถูกเปิดเผยออกไปสู่สาธารณะในวงกว้าง ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยปลุกเร้าอารมณ์ของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย และสุดท้ายจะนำมาซึ่งผลเสียต่อตัวจำเลยเอง
จะเห็นได้ว่า “การพิจารณาคดีโดยลับ” ไม่ใช่การพิจารณาคดีลับหลัง หรือสืบพยานลับหลังจำเลย ตามที่มีผู้พยายามบิดเบือน จำเลย ทนายความ และพยานของจำเลย ล้วนแล้วแต่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาคดี โดยไม่ได้เสียสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้แต่ประการใด และเรื่องทั้งหมดนี้ ล้วนถูกต้องตามหลักการทางกฎหมาย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน
ดังนั้น ความดำมืดในประเด็นนี้ ย่อมไม่ได้อยู่ที่กฎหมายมาตรา 112 หากแต่เป็นความมืดดำแห่ง “อคติ” ที่ปนเปื้อนอยู่ในความคิดของผู้ที่ไม่ยอมรับกฎหมายมากกว่า
ที่มา :
[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172
[2] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177
[3] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178