การพัฒนาสายพันธุ์กัญชาในสมัยรัชกาลที่ 5
มนุษย์รู้จักการใช้ประโยชน์จากกัญชามานานแล้ว และอาจจะเป็นหนึ่งในพืชอันดับแรก ๆ ที่มนุษย์นำมาเพาะปลูก โดยเมล็ดพันธุ์กัญชาที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยมีการค้นพบนั้น อยู่ในช่วง 8 พันปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว และมนุษย์ในยุคนั้น ใช้เส้นใยกัญชาในการถักทอเป็นผ้า และใช้เป็นยา ซึ่งในตำหรับยาโบราณ ไม่ว่าจะของอินเดีย จีน อียิปต์โบราณ หรือกรีก ต่างบันทึกถึงสรรพคุณ และวิธีใช้กัญชาในฐานะยาทั้งสิ้น
สำหรับในประเทศไทยนั้น ตำราแพทย์แผนไทยโบราณหลายฉบับ ไม่ว่าจะ “คัมภีร์ธาตุพระนารายน์”, “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. ๑๒๘”, “ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ฯลฯ ต่างกล่าวถึงการใช้กัญชาในฐานะส่วนประกอบยา เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ, กาฬโรค, ริดสีดวงทวาร, โรคผิวหนัง ฯลฯ จึงอาจสรุปได้ว่า กัญชา คือตัวยาสำคัญตัวหนึ่ง ที่มีสรรพคุณมากมาย และใช้ในการรักษาคนไทยมาแต่โบราณ
ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงแม้ว่าในหลวงจุฬาลงกรณ์จะทรงปฏิรูปประเทศ รับเอาความรู้จากตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศ แต่ก็ยังคงทรงอนุรักษ์การแพทย์แผนไทยเอาไว้อยู่ดี ดั่งจะเห็นได้จากหลักสูตรนักเรียนแพทย์ยุคนั้นที่มีสอนทั้งแพทย์แผนตะวันตกและแพทย์แผนไทยควบคู่กัน
และในรัชกาลที่ 5 นี้เอง มีการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาขึ้นถึง 3 สายพันธุ์
สายพันธุ์แรก “กัญชาตะนาวศรีก้านแดง” จังหวัดเพชรบุรี โดยแต่เดิมที กัญชาที่สามารถใช้เป็นยาได้นั้นคือ “กัญชาหางกระรอกภูพาน” จาก จ.สกลนคร เพียงแหล่งเดียว แต่เมื่อครั้งที่ในหลวงจุฬาลงกรณ์สเด็จประพาสเพชรบุรี เข้าใจว่าได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์กัญชาหางกระรอกภูพานให้ชาวเพชรบุรีทดลองปลูก และปรากฏว่า กัญชาที่ปลูก มีสรรพคุณทางยาด้วย จึงเรียกชื่อกัญชาชนิดนี้ว่า “กัญชาตะนาวศรีก้านแดง” และกัญชานี้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเพชรบุรี จนกระทั่งรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฏร์สั่งห้ามในปี พ.ศ. 2478
สายพันธุ์ที่ 2 “กัญชาหมื่นศรี” ถูกพัฒนาในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน โดยหมอยาชื่อ หมื่นศรี ซึ่งเข้ามาเรียนแพทย์ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช และนำเอาพันธุ์กัญชาไปปลูกที่ลานสกา และ พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช
สำหรับสายพันธุ์ที่ 3 “กัญชาปัตตานี” ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชาวอีสานผู้หนึ่ง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำนันในปัตตานี เขาได้นำเมล็ดพันธุ์กัญชาไปเพาะปลูกที่นั่นด้วย จนได้กัญชาสายพันธุ์นี้ขึ้นมา
เนื่องด้วยองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนตะวันตกนั้น ยืนอยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างกันกับแพทย์แผนไทย บวกกับภาพความเจริญกว่าของโลกตะวันตก ทำให้การแพทย์แผนไทยถูกลดคุณค่าในตัวเองลงไปตามกาลเวลา แต่จุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดของการแพทย์และเภสัชกรรมแผนปัจจุบันที่เน้นหนักไปที่การสังเคราะห์สารเคมีเพื่อผลิตยา ซึ่งมีความเข้มข้นสูง และมีผลกระทบรุนแรงมากกว่า การแพทย์แผนโบราณจึงถูกหยิบยกกลับมา มีการศึกษาวิจัยด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น จนแพทย์แผนโบราณหลายแขนง ได้รับความเชื่อถือเทียบเคียงกับแพทย์แผนตะวันตก แพทย์แผนไทยเองก็ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญจากรัฐบาลในการส่งเสริม วิจัย และพัฒนาด้วยเช่นกัน
กัญชา ในฐานะตัวยาสำคัญตัวหนึ่งของแพทย์แผนไทย จึงถูกหยิบยกกลับขึ้นมา พิจารณาทบทวนด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขในอนาคตต่อไป
อ้างอิง :
[1] Ethan Russo (August 2007). “History of cannabis and its preparations in saga, science, and sobriquet”. Chemistry & Biodiversity. 4 ( 8 ) : 1614–1648.
[2] Tengwen Long; et al. (March 2017). “Cannabis in Eurasia: origin of human use and Bronze Age trans-continental connections”. Vegetation History and Archaeobotany. 26 (2): 245–258.
[3] Abel, Ernest L. (1980). “Cannabis in the Ancient World”. Marihuana: the first twelve thousand years. New York City: Plenum Publishers. ISBN 978-0-306-40496-2
[5] เมดไทย (2017), “ประวัติการแพทย์แผนไทย…จากอดีตสู่ปัจจุบัน !!”, สืบค้นเมื่อ 6 ม.ค. 2564
[7] สมนึก ศิริพานทอง (พ.ศ.2562), “ประวัติศาสตร์ของตำรับยาไทยจาก กัญชา”, สืบค้นเมื่อ 6 ม.ค. 2564