‘การทูตสาธารณะ’ บุคคลทรงพลังในเวทีโลก ที่แม้แต่คุณเองก็ ‘ทำได้’
ในตอนนี้ประเด็นเรื่อง Soft power เป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ไม่ว่าจะความเข้าใจที่ถูกต้องว่ามันคืออะไร ต้องมีวิธีในการทำให้มันแผ่ขยายอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร หรือกระทั่งข้อถกเถียงในเชิงทฤษฎีที่ยังมีในโลกวิชาการว่าควรจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร หรือเมื่อบริบทของขนาดประเทศต่างกันควรจะต้องใช้อย่างไรหลังจากที่ Joseph Nye ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีได้เผยแพร่ออกมา [1] แต่อย่างไรก็ดีการเกิดขึ้นของ Soft power อย่างน้อยในฐานะทฤษฎีนั้นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่าโลกระหว่างประเทศได้พัฒนาขึ้นมากจนเกิดวิธีในเชิงการทูตแบบใหม่ที่เราอาจจะไม่รู้จักกันมาก่อน
แต่เดิมทีการทูตนั้นเป็นเรื่องของชนชั้นนำอันมีวิธีการทั้งหลายทั้งปวงนับตั้งแต่วิธีการใช้คำพูด การวางตัว สายสัมพันธ์ส่วนตัว ความเชื่อ ฯลฯ ในการดำเนินการทูตซึ่งสิ่งเหล่านี้วิวัฒน์มาพร้อมๆ กับการค่อยๆ ก่อตัวของความเป็นรัฐชาติและความรู้และการรับรู้ในเรื่องของดินแดน-เขตแดน [2] ดังนั้นแล้วการทูตในแบบดั้งเดิมจึงเป็นเรื่องของรัฐบาล-รัฐบาล หรือ ชนชั้นนำ-ชนชั้นนำ ซึ่งเป็นตัวแสดงที่จำกัดอยู่ในวงแคบๆ
เมื่อเวลาผ่านมานานเข้า การทูตนั้นเริ่มขยายออกไปโดยไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงในวงแคบๆ แต่ตัวแสดงอื่นๆ ก็สามารถเข้ามามีบทบาทในการ “ทูต” ได้ นั่นก็เพราะว่าในโลกปัจจุบันมีการเชื่อมต่อกันมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะจากอินเทอร์เน็ตหรือวิธีการเดินทาง/ติดต่อสื่อสารอื่นๆ ที่สามารถทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้นพร้อมกับต้นทุนที่ต่ำลง โลกทั้งใบนี้จึงกลายเป็นเวทีทางการทูตแบบใหม่ที่ไม่แต่เพียงชนชั้นนำเท่านั้นที่มีบทบาท แต่ทุกคนก็สามารถมีบทบาทได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือช่วยส่งเสริม Soft power ได้ ด้วยวิธีการทางการทูตแบบใหม่ที่เรียกว่า “การทูตสาธารณะ” (Public diplomacy) [3]
การทูตสาธารณะในความหมายปัจจุบันหากจะเปรียบเทียบได้อย่างเข้าใจง่ายที่สุดนั่นก็คือการสร้างแบรนด์ให้กับประเทศ ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าของฝั่งเอกชน แต่ระดับเอกชนและระดับรัฐนั้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีการที่ใช้ก็ย่อมไม่เหมือนกันเพราะมีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปในการสร้างภาพความจำหรือความประทับใจให้กับผู้คน [4] ดังนั้นแล้ววิธีการทูตสาธารณะจึงเรียกได้ว่าเป็นวิธีทางการทูตแบบใหม่ที่รวมตัวแสดงอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐรวมไปถึงประชาชนทั่วไปเข้ามาด้วย ซึ่งต้องใช้เทคนิคและวิธีมองโลกที่ต่างออกไปจากการทูตแบบดั้งเดิม [5]
Peter van Ham นักวิชาการเนเธอร์แลนด์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “การทูตสาธารณะสามารถเข้ากันได้กับโลกทุกวันนี้ที่มีเครือข่ายโยงใยกันอยู่และมีความลื่นไหลระหว่างส่วนต่างๆ ของสังคมมาก” โดยการทูตสาธารณะนั้นเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11 นั่นก็เพราะว่าการทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายนั้น สหรัฐอเมริกาต้องมีการปรับนโยบายและวิธีในการดำเนินงานมาก ดังนั้นการได้รับการสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ และเพื่อแสดงว่าทำไมสหรัฐฮเมริกาถึงต้องทำสงครามนี้ และการทำสงครามนี้จะทำให้ประเทศอื่นได้ประโยชน์อย่างไรด้วย ดังนั้นแล้วจึงจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าการทูตสาธารณะนั้นมีนิยามอย่างไรและมีส่วนประกอบอะไรบ้าง
การทูตสาธารณะคืออะไร?
การทูตสาธารณะนั้นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีนิยามที่เปลี่ยนไปแต่ละช่วงเวลา แต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะให้นิยามไว้ว่าเป็นพื้นที่ของการโฆษณาและการข้อมูล และเราจะเห็นภาพมากขึ้นในช่วงสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาได้ตั้งหน่วยงานเช่น Voice of America ในการเผยแพร่ค่านิยมอเมริกันและความฝันแบบอเมริกันดรีมใส่หูชาวโซเวียต เช่น การมีเสรีภาพในการแสดงออก หรือการมีระบบตลาดที่ทำหน้าที่ ซึ่งจุดนี้จะพัฒนามากขึ้นเป็นการทูตสาธารณะในความเข้าใจในปัจจุบันที่ทั้งหน่วยงานรัฐบาลและภาคประชาสังคมมีอิทธิพลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อความคิดของประชาชนในประเทศอื่น หรือออกแนว People-to-people นั่นเอง นั่นหมายความว่าการทูตสาธารณะนั้นคือการสื่อสารแบบวันต่อวันกับสังคมในประเทศเป้าหมายผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งเป็นการสื่อสารทั้งแบบสองทางและการสื่อสารแบบกลยุทธ์ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์แบบยั่งยืนระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งผลต่อนโยบายระหว่างประเทศของประเทศเป้าหมาย
สาเหตุที่เน้นไปที่ภาคประชาสังคมของประเทศเป้าหมายนั่นก็เพราะว่าในปัจจุบันภาคประชาสังคมนั้นมีบทบาทมากกว่าในอดีตมากในการส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องโน้มน้าวรัฐบาลโดยตรง แต่โน้มน้าวที่ภาคประชาสังคมให้ไปมีผลต่อรัฐบาลอีกทีได้ด้วย นโยบายที่เป็นรูปธรรมของการทูตสาธารณะนั้นมีหลายมิติ ในปัจจุบันนั้นนักเรียนที่ไปศึกษาต่างประเทศก็ถูกนับเป็นผู้ที่ดำเนินการทูตสาธารณะได้ เพราะหากมีพฤติกรรมที่ดีประเทศเป้าหมายก็ย่อมประทับใจ และกลับกันหากประเทศเป้าหมายมีการต้อนรับขับสู้ที่ไม่ดีไม่ว่าจะจากคนในประเทศเองหรือระดับใหญ่กว่านั้นก็ย่อมนำภาพในเชิงลบฝากกับนักเรียนติดมาประเทศบ้านเกิดด้วย และหลายๆ ประเทศก็มีการจัดตั้งโปรแกรมต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยน หรืออย่างของจีนนั้นก็มีการตั้งศูนย์ศึกษาขงจื่อในประเทศต่างๆ เพื่อพยายามโน้มน้าวว่าพวกเขาเป็นมหาอำนาจที่เป็นมิตรและรักสงบ ดังนั้นการทูตสาธารณะจึงเป็นเกมในระยะยาวและต้องการความต่อเนื่อง
การใช้การทูตสาธารณะนั้น หากประเทศใดสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลหรือฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศที่เป็นเป้าหมายก็สามารถออกนโยบายหรือกฎหมายที่เป็นไปตามความต้องการของภาคประชาสังคมได้ การทูตสาธารณะจึงเรียกได้ว่าเป็นวิธีในการทำให้ Soft power ของประเทศหนึ่งมีผลที่แผ่กระจายออกไปมากขึ้นได้ สำหรับประเทศที่มีขนาดเล็กหรือกลางก็ได้ประโยชน์ได้ด้วยในการจับความสนใจจากเวทีโลก เช่น นอร์เวย์ที่เป็นประเทศเล็กๆ และมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มสแกนดิเนเวียอื่นๆ นั้นเลือกที่จะแตกต่างตัวเองออกไปและให้มีที่ยืนบนเวทีโลกด้วยบทบาทมหาอำนาจทางด้านมนุษยธรรม กล่าวคือ นอร์เวย์ได้ร่วมภารกิจในการรักษาสันติภาพหลายมุมทั่วโลกตั้งแต่ซูดานใต้ไปจนถึงอัฟกานิสถาน ซึ่งพวกเขาทำได้ดีจนสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยก็ยังเคยเชิญชวนให้นอร์เวย์เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาในติมอร์ตะวันออก ซึ่งถึงแม้นอร์เวย์จะปฏิเสธบทบาทนี้แต่ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังรับรู้และมองเห็นบทบาทของนอร์เวย์ในฐานะกองกำลังเพื่อสันติภาพของโลกได้
ทั้งนี้ข้อเสียของการทูตสาธารณะก็มีอยู่บ้าง เนื่องจากว่าทุกคนสามารถเข้ามาร่วมทำภารกิจนี้ได้ นั่นหมายความว่าก็ยิ่งยากต่อการควบคุม ด้วยมีความแตกต่างจากกลุ่มแคบๆ อย่างเช่น นักการทูตมืออาชีพที่รู้แนวทางกันมากกว่า และการทูตสาธารณะนั้นไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถแก้ไขได้ทุกอย่างและต้องใช้ร่วมกับวิธีการอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความขัดแย้งที่สามารถนำไปสู่การปะทะกันทางกายภาพได้นั้นก็ต้องใช้ความสามารถทางทหารเข้ามาแก้ไขด้วย ไม่ใช่ใช้วิธีทางการทูตประการเดียวเท่านั้น กล่าวให้ชัดมากขึ้นก็คือการทูตสาธารณะนั้นเป็นวิธีการใหม่ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเดียวของมันได้ เพราะการจะสร้างความสัมพันธ์อย่างรอบทิศทางนั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้และความสามารถหลายมิติอย่างสอดประสานกัน ทั้งนี้เป้าหมายที่สูงสุดก็คือการแผ่ขยาย Soft power ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
อ้างอิง :
[1] ดูรายละเอียดใน Craig Hayden, The Rhetoric of Soft Power: Public Diplomacy in Global Contexts (Maryland: Lexington Books, 2012).
[2] รายละเอียดใน Jeremy Black, A History of Diplomacy (London: Reaktion Books, 2010).
[3] ปัจจุบันมีการเขียนหนังสือออกมาเป็นเล่มโตเพื่อศึกษาประเด็นนี้ในหลากมิติโดยเฉพาะ ใน Nancy Snow and Nicholas J. Cull (eds.), Routledge Handbook of Public Diplomacy (New York: Routledge, 2020).
[4] Simon Anholt, “Place branding: Is it marketing, or isn’t it?,” Place Branding and Public Diplomacy Vol.4 No.1 (February 2008): 1-6; Bernard L. Simonin, “Nation Branding and Public Diplomacy: Challenges and Opportunities,” The Fletcher Forum of World Affairs Vol.32 No.3 Special Edition (2008): 19-34.
[5] เรียบเรียงจาก Thosaphon Chieocharnpraphan, “Public Diplomacy: A Preliminary Assessment,” วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (ก.ค. – ธ.ค. 2558): 223-242.