การฉีดวัคซีนครั้งแรกในประเทศไทย และกำเนิด ‘สถานเสาวภา’
หนึ่งในสงครามที่ต้องจดจำของประเทศไทยและทั่วโลก ณ เวลานี้คือ การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนทั้งด้านเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของคนไทย
ซึ่งวัคซีนและสถานรองรับผู้ป่วย ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการต่อสู้ในสมรภูมิครั้งนี้ โดยทางสาธารณสุข ได้เร่งสรรพกำลังในการปูพรมฉีดวัคซีน ให้กับประชาชนทั่วทั้งประเทศอยู่ในขณะนี้
และเมื่อพูดถึง “วัคซีน” รู้ไหมว่า การฉีดวัคซีนครั้งแรกในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อไหร่
วัคซีนเข็มแรกในประเทศไทย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้เกิดการระบาดอย่างหนักของไข้ทรพิษหรือฝีดาษ และได้มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกขึ้น เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2378 โดย หมอบลัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) ซึ่งเป็นการให้วัคซีนในลักษณะที่เรียกว่าการ “ปลูกฝี” โดยใช้เชื้อหนองฝีที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 3 ได้ทรงทราบความ จึงมีรับสั่งให้หมอหลวงเข้ารับการฝึกปลูกฝีกับ หมอบลัดเลย์ แต่เนื่องจากการนำเข้าเชื้อหนองฝีจากอเมริกา มีปัญหาเรื่องระยะเวลาและค่าใช้จ่าย หมอบลัดเลย์ จึงได้เปลี่ยนวิธีการปลูกฝีเป็นแบบ Variolation ซึ่งเป็นการนำเอาเชื้อหนองฝีจากผู้ป่วยไข้ทรพิษมาทำการปลูกฝี อันเป็นวิธีการดั้งเดิมที่ถูกค้นพบโดยหมอชาวจีน
โดยหมอบลัดเลย์ตั้งใจไว้ว่า หากวิธีการดั้งเดิมแบบชาวจีน ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ก็จะกลับมาใช้วิธีนำเข้าหนองฝีจากสหรัฐอเมริกา โดยมีค่าบริการคนละ 1 บาท และมีเงื่อนไขว่าจะได้เงินคืน 50 สตางค์ เมื่อกลับมาติดตามตรวจผลดู และ ฝีดีขึ้น ทั้งนี้ เงินที่ได้จะนำไปซื้อพันธุ์หนองฝีมาใช้ต่อไป
นับเป็นการสร้างแคมเปญด้านสาธารณสุขที่น่าสนใจมากในเวลานั้น อีกทั้งปรากฏว่า การปลูกฝีทั้งสองวิธีได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ จึงใช้เป็นแนวทางในการรักษาควบคู่กันมา
ครั้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 แม้ว่าการปลูกฝีทั้งแบบดั้งเดิมและนำเข้าจะได้ผลดีในแง่การรักษา แต่ด้วยระยะเวลาในการนำเข้าหนองฝีที่ยาวนานถึง 9 เดือน ทำให้พันธุ์หนองฝีเสื่อมคุณภาพ
ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชดำริให้มีการริเริ่มสร้างหนองฝีขึ้นมาใช้เองเป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากการส่งนายแพทย์ 2 คน ของไทย คือ พระบำบัดสรรพโรค หรือนายแพทย์แฮนซ์ อดัมเซ็น (Hans Adamsen) และหลวงวิฆเนศน์ประสิทธิวิทย์ (อัทย์ หสิตะเวช) ไปศึกษาดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์
เมื่อนายแพทย์ทั้งสองเดินทางกลับประเทศไทย จึงได้เริ่มการทดลองสร้างหนองฝีขึ้นมาใช้เอง และประสบความสำเร็จด้วยดี กระทั่งต่อมา ทางกระทรวงธรรมการได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง “กอเวอนเมนต์ซีร่ำแลโบแร็ตโตรี” (Government Serum Laboratory) สำหรับผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้น เพื่อใช้ปลูกป้องกันไข้ทรพิษภายในประเทศ และภายหลังได้ย้ายสถานผลิตไปที่ ต.ห้วยจรเข้ จ.นครปฐม
ต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ได้มีการจัดตั้งสถานดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ตึกหลวง ถนนบำรุงเมือง โดยใช้ชื่อว่า “ปาสตุระสภา” โดยมี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นผู้ให้การอนุเคราะห์สนับสนุน ต่อมาจึงได้มีการย้ายสถานผลิตวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ และวัคซีนประเภทอื่น ๆ มาไว้รวมกันที่ “ปาสตุระสภา” เสียเลย
จากนั้นในปี พ.ศ. 2460 “ปาสตุระสภา” ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สถานปาสเตอร์” ตามชื่อของ หลุยส์ ปาสเตอร์ บุคคลสำคัญของโลกผู้ค้นพบวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และได้ทำการโอนกิจการสถานผลิตวัคซีนนี้ให้แก่สภากาชาดไทย
ภายหลังสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ เสด็จสวรรคต ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อันยั่งยืนในประเทศไทย เพื่อให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศสมเด็จพระราชชนนี เคียงคู่กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกาธิราชอยู่ก่อนแล้ว
จึงทรงอุทิศที่ดินตรงบริเวณมุมถนนสนามม้าตัดกับถนนพระราม 4 จำนวนเนื้อที่ 46 ไร่ พร้อมกับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อีกจำนวน 258,000 บาท มอบให้สภากาชาดไทยนำไปใช้อำนวยการสร้างอาคารใหญ่ขึ้นหลังหนึ่งบนที่ดินดังกล่าว เพื่อใช้เป็นที่ทำการของ สถานปาสเตอร์ พร้อมพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “สถานเสาวภา”
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความผูกพัน ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนไทย โดยเฉพาะในแง่การอนุเคราะห์ส่งเสริม ยามประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์โรคภัยต่าง ๆ ตลอดจนพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุขของในหลวงทุกพระองค์ นับเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวไทย จากอดีตเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน