ยุคมืดและการขาดตอนทางวัฒนธรรมจากฝีมือเขมรแดง ต้นเหตุแห่งกระแสเคลมวัฒนธรรมไทยของกัมพูชา
กระแสการเคลมวัฒนธรรมไทยของชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในเรื่อง “มวยไทย” ได้กลายเป็นเรื่องที่มีการขัดแย้งระหว่างชาวไทยและกัมพูชาอย่างจริงจัง แต่ทำไมชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ได้กลายเป็นกลุ่มคนที่คอยมาเคลมวัฒนธรรมไทยสารพัดอย่าง ทั้งที่กัมพูชาก็มีรากฐานวัฒนธรรมที่คล้ายกับไทยและมีหลายวัฒนธรรมที่สามารถจัดว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของทั้งสองประเทศเสียด้วยซ้ำ ?
หรือแท้จริงแล้ว กัมพูชาได้สูญเสียวัฒนธรรมทางใจ มรดกที่ตกทอดและความเจริญทางวัตถุ ไปเกือบหมดสิ้นในช่วงที่เขมรแดงเข้ามามีอำนาจในประเทศจนต้องฟื้นฟูประเทศแบบนับหนึ่งใหม่ในทุก ๆ เรื่อง และกลายเป็นหลุมดำทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องราวความเจ็บปวดของคนกัมพูชามาถึงทุกวันนี้
ทั้งที่กัมพูชาในช่วงก่อนเขมรแดง ก็เป็นประเทศหนึ่งที่พยายามต่อยอดวัฒนธรรมไปในทางของตนเองโดยมีรากฐานส่วนหนึ่งจากวัฒนธรรมไทยและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับพอ ๆ กับไทย แต่เมื่อถูกทำลายแทบทั้งหมดจากฝีมือของเขมรแดงและกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ก็ไร้ราก ไร้พลัง จนต้องบูรณะซ่อมแซมประเทศขึ้นมาใหม่ให้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้งหลังการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กัมพูชาจากการสนับสนุนโดยสหประชาชาติ โดยเฉพาะการฟื้นฟูวัฒนธรรมของกัมพูชาจากทางไทยและการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ จากทั่วโลก
และเมื่อวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของกัมพูชาได้หายไป ซึ่งต้องมีการฟื้นวัฒนธรรมใหม่ในช่วงฟื้นฟูประเทศ ก็ได้กลายเป็นจุดที่คนรุ่นใหม่กัมพูชาส่วนใหญ่ได้เข้าใจผิดไปเองว่า วัฒนธรรมที่ถูกฟื้นฟูโดยไทยก็เป็นวัฒนธรรมของกัมพูชาตั้งแต่แรกจากกระแสการฟื้นฟูวัฒนธรรมและความเจริญของชาติกัมพูชาที่เกิดขึ้นในช่วงระยะหลัง ๆ มานี้ คือ ผลข้างเคียงของการต่อยอดทางวัฒนธรรมที่ขาดตอนไป และวัฒนธรรมของชาติกัมพูชาก็ย่อมจะไปได้ไกลกว่านี้ หากไม่โดนตัดตอนอย่างน่าเสียดายโดยเขมรแดง
โดยหากมองประวัติศาสตร์ของกัมพูชาหลังจากการเป็นประเทศเอกราชนั้น ก็จะพบว่า มีการพัฒนาทั้งในด้านวัตถุและวัฒนธรรมอยู่พอสมควร อย่างเช่น มีการผลักดันแนวคิดวัฒนธรรมของกัมพูชาอย่างจริงจังและพยายามสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศให้มีความแตกต่างจากประเทศไทยทั้งในประเด็นภาษา และลักษณะการแสดงออก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง จนมีช่วงเวลาหลายปีที่รายได้ต่อหัวของคนกัมพูชาได้ไล่เลี่ยเกาะกลุ่มกับรายได้ต่อหัวของคนไทยเลยทีเดียว
แต่ในช่วงที่สงครามเย็นกำลังระอุครั้งใหญ่ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่กัมพูชากำลังประสบความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มการเมืองคอมมิวนิสต์ กลุ่มการเมืองสาธารณรัฐ และกลุ่มการเมืองสถาบันเดิมภายใต้การนำของเจ้านโรดม สีหนุ ซึ่งพยายามรักษาความเป็นกลางในเวทีโลกและไม่เข้าข้างฝักฝ่ายใด ๆ ในสงครามเย็น แต่ก็แน่นอนว่า ทั้งฝ่ายประเทศคอมมิวนิสต์และฝ่ายสหรัฐอเมริกาต่างต้องการที่จะแทรกแซงกัมพูชาท่ามกลางสงครามเวียดนามที่เป็นเวทีการช่วงชิงอำนาจของทั้งสองฝ่ายอย่างรุนแรง
ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ.2510 – 2513 ก็คือ ช่วงเวลาที่เกิดสงครามกลางเมืองรอบแรกในกัมพูชาระหว่างฝ่ายสถาบันเดิมและฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก่อนที่รัฐบาลของเจ้านโรดม สีหนุ จะถูกโค่นล้ม โดยฝ่ายสาธารณรัฐภายใต้การนำโดยจอมพล ลอน นอล ซึ่งมีนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงและสนับสนุนฝ่ายสหรัฐอเมริกาอย่างจริงจัง จึงทำให้สงครามกลางเมืองกัมพูชาขยายวงกว้างเป็นการต่อสู้ 3 ฝ่ายตั้งแต่ พ.ศ.2513 – 2518 และได้ทำลายเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาเป็นจำนวนมาก
จากนั้นกัมพูชาก็ได้เข้าสู่ยุคที่ขบวนการเขมรแดงเข้ามาปกครองกัมพูชาในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2518 และได้ยุติสงครามกลางเมืองครั้งแรกที่เกิดขึ้นมาได้ 8 ปี แต่กลับเริ่มต้นยุคมืดของประเทศอย่างแท้จริง จากการทำลายทุกอย่างที่เป็นของเก่าและสร้างของใหม่ที่ตรงตามอุดมการณ์ของเขมรแดง
อย่างการทำลายสถานที่สาธารณะที่ดูเป็นการแบ่งชนชั้น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม ฯลฯ รวมทั้งการขับไล่คนในเมืองใหญ่แทบทุกคนให้ไปอยู่ชนบทเพื่อสนองคุณค่าทางการเมืองของเขมรแดงที่ไม่ต้องการให้มีชนชั้นปรสิตที่เป็น “ชาวเมือง” ในสายตาของเขมรแดง และต้องการสร้างสังคมในจินตนาการที่เป็นสังคมการเกษตรเต็มร้อยและไม่ต้องการพึ่งพาใด ๆ จากต่างประเทศ ตามอุดมคติของเขมรแดง (สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของขบวนการเขมรแดงได้ที่ “‘ขบวนการเขมรแดง’ บทเรียนอำมหิต ที่ซ่อนอยู่ในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์” ในเรื่องปูมหลังของขบวนการเขมรแดง)
ทั้งนี้ การผงาดของเขมรแดงจึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่วัฒนธรรมของประเทศถูกกวาดล้างอย่างรุนแรงและมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนเป็นจำนวนมากซึ่งมักเป็นผู้มีความรู้และศัตรูทางการเมืองของเขมรแดง จุดนี้จึงเป็นจุดที่กัมพูชาต้องเผชิญความทุกข์เข็ญยกสองต่อจากสงครามกลางเมืองที่ก็ถือว่าแสนสาหัสมากพอแล้ว
หลังจากที่เขมรแดงปกครองได้เพียง 4 ปี ก็ถูกกลุ่มคอมมิวนิสต์อีกกลุ่มที่สนับสนุนโดยเวียดนามเข้ามาปลดปล่อยประเทศและสถาปนาการปกครองโดยเฮง สัมริน ซึ่งปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2522 – 2532 ท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่รอบนี้มี 4 ฝ่าย และยิ่งทำลายล้างประเทศให้สิ้นซากหนักกว่าเดิม แต่เมื่อเทียบกับช่วงที่เขมรแดงเข้ามามีอำนาจนั้น ช่วงเวลานี้ถือได้ว่า กัมพูชาได้เริ่มออกจากยุคมืดอย่างแท้จริง เพราะอย่างน้อย คอมมิวนิสต์เวียดนามก็ยังให้เสรีภาพในด้านศาสนาและความหลากหลายทางเชื้อชาติอยู่บ้าง
ในที่สุด กัมพูชาก็เริ่มยืนได้ด้วยตนเองอีกครั้ง เมื่อเวียดนามได้ถอนทัพออกจากประเทศและเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2532 – 2535 โดยแม้ว่าจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์แต่ก็เปิดกว้างในด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตามกัมพูชาก็ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงอยู่ จนสหประชาชาติได้มีมติในการเข้าไปดูแลกัมพูชาโดยตรงในปี พ.ศ.2535 – 2536 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติและไม่ใช่กำลังต่อกัน ซึ่งช่วงหลังจากที่มีการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กัมพูชาและกลายเป็นประเทศเอกราชในช่วงหลังจากนั้น ก็ถือได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่กัมพูชาได้กลับมาสงบสุขและได้พัฒนาอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้ ได้เป็นบทเรียนราคาแพงที่ชาติกัมพูชาได้รับจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนเป็นช่องว่างให้กลุ่มอุดมการณ์สุดโต่งที่ได้ศึกษาปรัชญาคอมมิวนิสต์จากฝรั่งเศส โดย พล พต และไทย โดย นวล เจีย ได้ฉวยโอกาสในการปกครองประเทศและสร้างยุคมืดทางวัฒนธรรมที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างยาวนานและทำให้วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของกัมพูชาได้หยุดชะงักลงเป็นอันมาก
[ข้อมูลเพิ่มเติม: พล พต เคยถูกรัฐบาลสมัยนโรดม สีหนุ ส่งไปศึกษาในสถาบันเทคนิควิทยุและไฟฟ้าที่ประเทศฝรั่งเศส แต่กลับสอบตกหลายปีติดต่อกันจนถูกบังคับให้กลับประเทศโดยไม่มีวุฒิการศึกษากลับมาแต่อย่างใด ในขณะที่นวล เจีย (รุ่งเลิศ เหล่าดี) เป็นผู้นำระดับสูงของเขมรแดงไม่กี่คนที่ไม่เคยศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส โดยได้ศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเข้ามามีบทบาทในต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในช่วงแรก ๆ ก่อนที่จะกลับไปเคลื่อนไหวทางการเมืองในกัมพูชาในเวลาต่อมา ซึ่งสุดท้าย นวล เจีย ได้ถูกตัดสินให้รับโทษตลอดชีวิตในข้อหา ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และได้เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่กัมพูชา]
ดังนั้น การเข้าใจถึงประวัติศาสตร์กัมพูชาที่ต้องผ่านช่วงเวลาแสนสาหัสนั้นถือได้ว่า สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการเรียนรู้ปูมหลังและผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นฟูวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ การพยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรมเก่าที่เข้าข่ายเป็นการเคลมวัฒนธรรมไทยอยู่บ่อยครั้ง หรือแม้แต่พฤติกรรมการอวดความเจริญใหม่ของกัมพูชาที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ต่างก็เป็นผลพวงที่สั่งสมจากบริบทวัฒนธรรมช่วงก่อนเขมรแดงและช่วงหลังจากเขมรแดงเข้ามามีอำนาจด้วยกันทั้งสิ้น
ไม่เพียงเท่านั้น การถอดบทเรียนของพฤติกรรมชั่วร้ายของเขมรแดง ยังเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความสำคัญในการรักษาเอกภาพทางสังคม การรักษาวัฒนธรรมอันมีค่าของชาติไว้ รวมทั้งการไม่รื้อสร้างอะไรมั่ว ๆ เพียงเพราะมองว่า เป็นของเก่า ไม่ทันสมัย และแทนที่ด้วยของใหม่ที่ยังไม่ถูกพิสูจน์มากเพียงพอในสังคม
“เพราะบทเรียนจากการรื้อสร้างมั่ว ๆ ก็มีให้เห็นแล้วชัดเจน”
อ้างอิง :
[1] Khmer Rouge: Cambodia’s years of brutality
[2] Chronology of Cambodian Events Since 1950
[3] 17 เมษายน 2518 รู้จัก “กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส” ต้นเหตุเขมรแดง
[4] ย้อนรอย “รุ่งเลิศ เหล่าดี” เงาร่างของ “นวน เจีย”
[5] ‘ขบวนการเขมรแดง’ บทเรียนอำมหิต ที่ซ่อนอยู่ในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
[6] Cambodia GDP – Gross Domestic Product
[7] Thailand GDP – Gross Domestic Product