การก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ของปรีดี พนมยงค์ ที่ปาดหน้ามาจากไอเดียของ ‘หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร’

จุดประสงค์ของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คือ ต้องการให้ประเทศไทยปกครองในระบอบรัฐสภา เนื่องจากสภานิติบัญญัติ (องคมนตรีสภา) ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการปกครองในระบอบรัฐสภา แต่ว่าคงยังสงวนพระราชอำนาจไว้กับพระมหากษัตริย์อยู่มาก ดังนั้นคณะผู้ก่อการจึงมีความคิดริเริ่มภายใต้คำแนะนำของ นายพันเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ทำการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในระยะแรกคณะผู้ก่อการได้ใช้เวลาส่วนมากไปกับการจัดระเบียบและวางฐานอำนาจทางการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ และมุ่งออกมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างกระแสนิยมในหมู่ประชาชน จึงยังไม่มีการดำเนินโครงการระยะยาวที่เป็นรูปธรรม จนกระทั่งเมื่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเสร็จสมบูรณ์ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงได้ริเริ่มวางแผนจัดทำโครงการระยะยาวขึ้น

หนึ่งในนโยบายสำคัญของคณะราษฎร คือ นโยบายเกี่ยวกับการศึกษา เนื่องจาก นายปรีดี พยมยงค์ ผู้ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2475 ได้เล็งเห็นว่า ประชาชนชาวไทยยังด้อยการศึกษาและไม่มีความพร้อมที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่เหมาะที่จะให้ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนได้โดยตรง จนกว่าคนไทยจะมีการศึกษาในระดับประถมศึกษาเกินกว่าครึ่งหนึ่งเสียก่อน

อีกทั้งหากประชาชนขาดความเข้าใจ หรือมีความรู้เกี่ยวกับการปกครองรูปแบบใหม่น้อยเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมีฐานะทางการเมืองที่สั่นคลอนมากขึ้นเท่านั้น อย่าว่าแต่ประชาชนเลย ขณะนั้นแม้แต่ในหมู่คณะผู้ก่อการเอง ก็ไม่ค่อยรู้จักประชาธิปไตย หรือการปกครองในระบอบรัฐสภากันเท่าใดนัก

ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 6 วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2475 หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร จึงทรงเสนอแนวคิดการจัดตั้งสถาบันการศึกษาทางการเมืองขึ้น เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการเมืองในระดับสูง แต่เนื่องจากหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรไม่ได้เป็นสมาชิกผู้ก่อการ อีกทั้งมีสถานะเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง จึงถูกคณะราษฎรชั้นหนึ่งมองด้วยท่าทีไม่ไว้วางใจ และถูกจัดให้เป็นคณะราษฎรชั้นสองโดยปริยาย ดังนั้นแนวคิดดังกล่าวจึงถูกรัฐมนตรีสายคณะราษฎรซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ปฏิเสธไป อีกทั้งยังกีดกันไม่ให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรมีบทบาทด้านการเมืองอีก

จนกระทั่งภายหลังที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวคิดเหมือนกับโครงการเศรษฐกิจของพรรคบอลเชวิคในรัสเซีย จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่สมาชิกสภาผู้แทนปีกคณะราษฎรพกพาอาวุธเข้าไปข่มขู่คุกคามสมาชิกสภาผู้แทนปีกประชาธิปไตย จนพระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องประกาศปิดประชุมสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อปูทางไปสู่การจัดการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476

ในระหว่างปิดสมัยประชุมนี้เอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ร่วมมือกับ นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช มันสมองของคณะราษฎร พยายามที่จะพิทักษ์ประชาธิปไตย และไม่ให้กลุ่มปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงการเมืองไปในทิศทางของรัสเซีย โดยได้มีการดำเนินมาตรการออกกฎหมายลักษณะความผิดเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ และพยายามจัดโครงสร้างการเมืองเสียใหม่

และหนึ่งในนั้นคือ การผลักดันโครงการสถาบันการศึกษาด้านการเมือง ตามข้อเสนอของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร โดยการรวม “โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม” กับ “แผนกข้าราชการพลเรือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เข้าด้วยกัน เพื่อจัดการเรียนการสอนทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในระดับปริญญาบัตรขึ้นมา

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ออกประกาศโอนโรงเรียนกฎหมายฯ ไปขึ้นแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการยุบสภานิติศึกษาแล้วตั้งเป็นคณะนิติศาสตร์ จากนั้นจึงโอนแผนกข้าราชการพลเรือนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะด้วย ซึ่งการโอนโรงเรียนกฎหมายฯ เข้ามานั้น จะเป็นไปในลักษณะสถาบันสมทบ โดยที่การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนกฎหมายฯ ยังคงใช้ที่เดิมคือตึกเชิงสะพานผ่านพิภพลีลาศ

คณะนิติศาสตร์นี้ยังไม่มีการแต่งตั้งคณบดีอย่างเป็นทางการ แต่ได้ให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรรักษาราชการแทนคณบดีไปก่อน และให้ดอกเตอร์ดูปลาตร เป็นผู้อำนวยการแผนกวิชากฎหมายในคณะนิติศาสตร์

และในช่วงเวลานั้น วงการนักกฎหมายก็ได้เริ่มมีนักกฎหมายเสรีนิยมประชาธิปไตย ผลิตผลงานวิชาการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงออกมาบ้างแล้ว เช่น ผลงานของพระยานิติศาสตร์ไพศาล หรือเจ้าพระยามหิธร

แต่ครั้นเมื่อตั้งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เพียงเดือนเดียว ก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดย นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม และได้เชิญ นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ทว่าหลังจากนั้น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ก็ได้เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช โดยมีคณะกู้บ้านกู้เมืองนำกำลังทหารยกทัพเข้ามาปฏิวัติซ้อนเพื่อคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน แต่ก่อการไม่สำเร็จจนกลายเป็นกบฏ รัฐบาลจึงใช้โอกาสนี้รุกหนักทางการเมือง กวาดล้างผู้เห็นต่างไปเป็นจำนวนมาก

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเพิ่งริเริ่มได้ไม่ถึงครึ่งปี และยังไม่ทันได้แต่งตั้งคณบดีอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ จึงได้ถูกยุบไป เนื่องจากหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรผู้เป็นสมาชิกคณะราษฎรชั้นสอง ถูกเพ่งเล็งว่าน่าจะเป็นฝ่ายเจ้า ซึ่งนิยมเสรีประชาธิปไตยมากเกินไป ด้วยเหตุนี้นายปรีดีฯ จึงผลักดันให้ตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้น โดยยกฐานะของโรงเรียนกฎหมายฯ ให้เป็นมหาวิทยาลัยเสียเลย

อีกสาเหตุหนึ่งในการยุบคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ รัฐบาลเห็นว่าหากปล่อยให้มีการจัดการเรียนการสอนอยู่ อาจจะบ่มเพาะปัญญาชนเสรีประชาธิปไตยมากเกินไป และไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่คณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเดิมมีชื่อว่าคณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 ก็พลอยถูกสั่งยุบไปด้วย ภายใต้ชุดความคิดที่ว่า “แนวคิดทางการเมือง ที่รัฐบาลจะอนุญาตให้จัดการเรียนการสอนได้ จะต้องถูกควบคุมและกลั่นกรองจากรัฐบาลเท่านั้น” ด้วยเหตุนี้จึงต้องยุบทั้งคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งโอนทรัพย์สินและงบประมาณทั้งหมด ไปให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพียงแห่งเดียว

จากการผลักดันโครงการสถาบันการศึกษาด้านการเมืองข้างต้น จึงถือได้ว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อตั้งขึ้นจากการสืบสานนโยบายทางการศึกษา อันเกิดจากความคิดริเริ่มของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร อีกทั้งยังรักษาโครงสร้างหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์เอาไว้ โดยจัดให้มีการศึกษาในสาขาวิชากฎหมายเป็นจำนวนมาก และยังคงใช้ชื่อหลักสูตรปริญญาเดิม คือ “ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต” ซึ่งเป็นนามพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 6

ชื่อของ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” จึงมีที่มาสืบเนื่องมาจากโครงสร้างหลักสูตรเดิมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งเรื่องนี้ยังยืนยันได้จากหนังสือของ สิงโต ภาสวัสดิ์ นิสิตมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รุ่นแรกๆ โดยสิงโต ภาสวัสดิ์ ได้จัดทำหนังสือธงคำตอบข้อสอบกฎหมายขึ้นมาเล่มหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2477 มีชื่อว่า “ธงชัยของนักศึกษา : เป็นคู่มือผู้ศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีวิธีศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแบบใหม่กับมีคำถามคำตอบธรรมศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 ถึง พ.ศ. 2476 ประมวลแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามและพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง”

หนังสือธงคำตอบเล่มนี้ได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่า “ธรรมศาสตร์” ซึ่งเคยอยู่ในข้อสอบกฎหมายปี พ.ศ. 2476 (ก่อนก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 1 ปี) ไว้ว่า ในอดีตใช้เรียกชื่อกฎหมายลักษณะหนึ่งว่า ลักษณะธรรมศาสตร์ แต่ว่าในปัจจุบัน คำว่าธรรมศาสตร์ ถูกใช้เป็นชื่อเรียกวิชากฎหมายวิชาหนึ่ง ในคณะนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วๆ ไป โดยเรียกว่า “วิชาธรรมศาสตร์”

ดังนั้น เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ต้องการจะยกระดับโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญาบัตร จึงได้คัดลอกเอาโครงสร้างพร้อมทั้งชื่อปริญญาบัตรของหลักสูตรในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาทั้งดุ้น และนำชื่อเรียกวิชากฎหมายที่ใช้ในจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเรียกตามชื่อหลักสูตร มาตั้งเป็นชื่อมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 6 วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2475
[2] พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (2475)
[4] พระบรมราชโองการ ประกาศ โอนโรงเรียนกฎหมายไปขึ้นแก่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
[5] พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
[6] พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476
[7] (2477). ธงชัยของนักศึกษา : เป็นคู่มือผู้ศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีวิธีศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแบบใหม่กับมีคำถามคำตอบธรรมศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 ถึง พ.ศ. 2476 ประมวลแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามและพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง. โรงพิมพ์เดลิเมล์.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า