“กาฝากในระบบราชการ” พฤติกรรมน่าชัง ที่ฝังรากมาแต่อดีต
ในสมัย ร.5 สยามได้ปฏิรูปประเทศด้วยการนำเอาแนวคิดการบริหารราชการแผ่นดิน (Public Administration) โดยระบบรัฐราชการ (Bureaucratic system) ที่มีต้นแบบมาจากตะวันตก (ประเทศปรัสเซีย) มาปรับใช้ในสังคมสยาม ท่ามกลางการรุกคืบล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยม
ระบบราชการนี้เอง ที่ทำให้ชาติตะวันตกในเวลานั้น มองสยามว่าเป็นประเทศในเอเชียเพียงไม่กี่ประเทศมีอารยะและทันสมัย (Civilization) ทำให้ข้ออ้างของชาติตะวันตก ในการล่าอาณานิคมประเทศด้อยพัฒนาเพื่อปรับปรุงให้พลเมืองมีความทันสมัย ล้วนหมดสิ้นความชอบธรรมไปด้วย
ถือได้ว่าประเทศไทยกลายเป็น “รัฐราชการ” ครั้งแรกในสมัย ร.5 และเป็นมาจวบจนถึงปัจจุบัน
นอกเหนือจากองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์แห่งการบริหารราชการแผ่นดิน และศิลป์ในการปกครองคนแล้ว หัวใจสำคัญประการหนึ่งของข้าราชการ อันถือว่าเป็นเสมือนตัวแทนของรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการมีพฤติกรรมที่เหมาะสมแก่กาลและเทศะ เป็นแบบอย่างแก่คนทั่วไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเคารพนับถือในระบบราชการของประเทศ รวมทั้งเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตัวข้าราชการเองด้วย
อย่างไรก็ดี ปัญหาข้าราชการประพฤติตนหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานราชการหย่อนยานและประชาชนสูญสิ้นศรัทธาต่อระบบราชการ ได้มีมาตั้งแต่สมัยปฏิรูปประเทศแล้ว หาใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งมาเกิดขึ้นในปัจจุบันแต่อย่างใด
มีตัวอย่างปรากฏในรายงานของคณะผู้ตรวจการจากกระทรวงมหาดไทยสมัย ร.5 เมื่อครั้งลงพื้นที่ ณ อำเภออำพวา มณฑลราชบุรี (25 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 119 – 1 พฤษภาคม ร.ศ. 121) เขียนไว้ในรายงานฉบับหนึ่งว่า …
“… ข้าราชการในอำเภอ เมื่อเวลามาทำการยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย แสดงกิริยาไม่เหมาะสมเป็นข้าราชการ คือ เมื่อเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปตรวจนั้น นายอำเภอไม่อยู่ อยู่แต่ปลัดอำเภอ ปลัดอำเภอขึ้นนั่งและเอาเท้าวางอยู่บนโต๊ะ เสมือนเอาโต๊ะอาศัยเป็นเตียงนอน และราษฎรที่ได้มาที่ว่าการอำเภอ ซึ่งสมควรที่จะนั่งคอยอยู่ที่ระเบียงข้างนอก ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ปล่อยให้ราษฎรเข้าไปในที่ว่าการทีเดียว คุยกันด้วยเสียงอันดังคล้ายตลาด ข้าพระพุทธเจ้าได้ตักเตือนปลัดอำเภอ และให้เขียนเป็นคำสั่งไว้ในสมุดรายวันตรวจการด้วย เมื่อนายอำเภอกลับมาจะได้ทราบความที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ชี้แจงไว้ในสมุดรายงานนั้น …”
จะเห็นได้ว่า ความประพฤติของปลัดอำเภอผู้นี้ไม่มีความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเอาเท้าขึ้นตั้งบนโต๊ะทำงาน อีกยั้งยังปล่อยปละละเลยให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยภายในสถานที่ราชการด้วย แต่ในกรณีนี้ คณะผู้ตรวจราชการฯ ทำได้เพียงแค่ตักเตือนเท่านั้น ไม่ได้มีการลงโทษแต่อย่างใด
ยังมีกรณีอื่นๆ อีก ที่ข้าราชการประพฤติตนไม่เหมาะสมอย่างหนัก จนส่งผลกระทบไปถึงงานราชการ เช่นกรณีของ นายอำเภอกระโทกหลวง เมืองนครราชสีมา ซึ่งมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เนื่องจากชอบเมาสุราและติดการพนันอย่างหนักจนทำให้งานราชการเกิดความเสียหาย รวมทั้งมีหนี้สินจำนวนมากจนทำให้ประชาชนสิ้นความนับถือ
ตัวอย่างเหล่านี้ได้ย้ำให้เห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับการประพฤติตัวไม่เหมาะสมของข้าราชการ ไม่ใช่ปัญหาใหม่ หากแต่มีมาตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มนำระบบราชการมาใช้ในไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน กระทั่งถึงปัจจุบัน ก็ยังพบเจออยู่เสมอตามข่าวต่างๆ หรือจากสื่อสังคมออนไลน์ที่เราพบเห็นกันอยู่เป็นประจำ
ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งระบบราชการของประเทศไทยไว้ให้หยุดนิ่ง และไม่พัฒนาไปไหนเสียที เมื่อระบบราชการซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างหลักของการบริหารบ้านเมืองมีความหย่อนยาน ขาดความเคารพศรัทธาจากประชาชน แล้วประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้าให้ทัดเทียมกับสังคมโลกได้อย่างไร
ดังนั้น นอกจากหน่วยงานต้นสังกัดที่ต้องตรวจสอบควบคุม ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ใต้บังคับบัญชาประพฤติตัวให้เหมาะสมแล้ว เราทุกคนในฐานะประชาชนคนไทยที่ต้องการให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้า ก็ต้องช่วยกันสอดส่องและรายงานพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของข้าราชการ “บางคน” ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงโทษตามวินัย เพื่อให้บรรดา “กาฝากในระบบราชการ” หมดไปจากสังคมไทยเสียที
อ้างอิง :
[1] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 ม 2.14/51. รายงานมิสเตอร์ไยล์ไปตรวจราชการสรรพากรมณฑลราชบุรี (25 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 119 – 1 พฤษภาคม ร.ศ. 121).