กองทุนเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี สมเด็จย่า จากความทุ่มเทของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สู่ความหวังและรอยยิ้มที่สดใสของคนไทย
“เมื่อแรกคลอดคุณแม่ของน้องกร ได้พบว่าลูกมีอาการปากแหว่งเพดานโหว่ ด้วยความเป็นห่วงจึงพยายามหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต จากนั้นจึงตัดสินใจทักมาทางเพจของกองทุนเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี สมเด็จย่า แล้วได้รับความแนะนำให้มาเข้ารับการรักษาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. ซึ่งเป็นที่ที่เติมเต็มรอยยิ้มให้น้องกรและคุณแม่ให้กลับคืนมาอีกครั้ง สิ่งที่คุณแม่ประทับใจมากๆ คือ คุณหมอและเจ้าหน้าที่ให้การดูแลเป็นอย่างดีจนน้องมีรอยยิ้มใหม่ที่สดใส มีพัฒนาการที่ดีขึ้นสามารถทานอาหารได้ดีและเริ่มหัดพูดบ้างแล้ว”
– ข้อมูลจากเฟซบุ๊กเพจ กองทุนเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี สมเด็จย่า คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ.
นี่คือรอยยิ้มของเด็กน้อยจากชุมพร ที่เดินทางมาด้วยความหวัง และกลับไปพร้อมรอยยิ้มของความสุข เป็นหนึ่งในรอยยิ้มของผู้ที่ได้รับโอกาสจากกองทุนเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี สมเด็จย่า กระทั่งได้รับการรักษาด้านทันตกรรมจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นี่คือรอยยิ้มแห่งความสุข ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการทรงงานด้านการพัฒนาทันตสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องยาวนานของสมเด็จย่า และแม้ว่าวันนี้ท่านจะไม่อยู่แล้วก็ตาม แต่ท่านก็ยังมอบมรดกแห่งความเมตตาและความช่วยเหลือไว้ให้แก่คนไทย
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2507 เมื่อครั้งสมเด็จย่าได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนตามจังหวัดชายแดนต่างๆ พระองค์ได้ทรงพบเห็นความยากลำบากของราษฎร ในการเดินทางมารักษายังโรงพยาบาลจังหวัดเวลาที่เจ็บป่วย บางรายอาการก็หนักเกินกว่าจะรักษา หรือบางคนเป็นโรคที่ไม่ได้รุนแรง แต่กลับเรื้อรังจนต้องพิการทุพพลภาพ จนเกิดพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จย่าในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ขณะทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า
“…ฉันได้ไปเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนที่ปฏิบัติงานในป่าเขา เพื่อปกป้องและรักษาแผ่นดินเราเขาเสี่ยงอันตรายหลายอย่าง รวมทั้งโรคภัยไข้ เจ็บด้วย ชาวบ้านและชาวเขาที่อยู่ตามป่าดงเหล่านั้น ก็มีปัญหาเรื่องป่วยไข้ เช่นเดียวกัน เพราะอยู่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก หากพวกเราจะไปดูและรักษา เขาบ้าง จะเป็นเดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง หรือแม้แต่สามเดือนครั้งก็ได้ จะ ได้ช่วยเหลือเขา เป็นประโยชน์มาก…”
พระราชกระแสรับสั่งของท่านถือเป็นจุดกำเนิดของกิจการแพทย์อาสาในเวลาต่อมา ซึ่งสมเด็จย่าได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์เริ่มแรก 1 ล้านบาท ในการจดทะเบียนหน่วยแพทย์อาสา เป็น “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Princess Mother’s Medical Volunteer Foundation” โดยพระองค์ทรงเป็นนายิกากิตติมศักดิ์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นเป็นประธากรรมการบริหาร โดยมี ศ.นพ.อุดม โปษกฤษณะ เป็นเลขาธิการมูลนิธิ
สมเด็จย่าทรงห่วงใยและให้ความสำคัญต่อปัญหาสุขภาพและการสาธารณสุขของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านทันตสุขภาพซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี
สมัยก่อนในชนบทห่างไกลธุรกันดาร ชาวบ้านในพื้นที่เหล่านั้นต้องอยู่กันอย่างแร้นแค้นขัดสน การเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็ยังไม่สะดวก ปวดหัวตัวร้อนขึ้นมายาสักเม็ดยังหาได้ยาก การรักษาด้านทันตกรรมอย่างเช่นการถอนฟันยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงต้องมีทันตแพทย์ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งสมเด็จย่าทรงเล็งเห็นว่าทันตสุขภาพที่ดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยได้ทรงพระราชกรณียกิจนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ในวโรกาสครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นสมควรจัดตั้งกองทุน เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานด้านทันตสาธารณสุขและการบริการทันตกรรมแก่ผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังสนับสนุนส่งเสริมให้คณาจารย์และบุคลากรของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปศึกษาฝึกอบรม ดูงาน และวิจัยเพื่อนำความรู้และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานด้านทันตสาธารณสุขให้ก้าวหน้าต่อไป
ต่อมา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นจาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งทรงมีพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “กองทุนเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี สมเด็จย่า” รวมทั้งทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ พร้อมทั้งเสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดกองทุน ณ คณะทันแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545
เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จสู่สวรรคาลัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์กองทุน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา
จนถึงปัจจุบัน กองทุนเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี สมเด็จย่า ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมกิจการด้านทันตสาธารณสุขมาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งหมดนี้คือผลสืบเนื่องจากความทุ่มเทของสมเด็จย่า ในการพัฒนาด้านทันตสุขภาพให้กับประชาชน เป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ช่วยสนับสนุน เติมเต็มการทำงานของภาครัฐ และมอบโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาด้านทันตกรรมอย่างทั่วถึง นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป