‘กลุ่มเจ้าฟ้านักพัฒนารุ่นแรก’ 20 พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ที่เป็นกำลังนำพาสยามเข้าสู่ยุคใหม่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศครั้งหนึ่งว่า “การปกครองในบ้านเมืองเราซึ่งเป็นไปในปัจจุบันนี้ยังไม่เป็นวิธีปกครองที่จะให้การทั้งปวงเป็นไปสะดวกได้แต่เดิมมาแล้ว ครั้นเมื่อล่วงมาถึงปัจจุบันนี้บ้านเมืองยิ่งเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า การปกครองเก่านั้นก็ยิ่งไม่สมกับความต้องการของบ้านเมืองหนักขึ้นทุกที จึงได้มีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ที่จะแก้ไขธรรมเนียมการปกครองให้สมกับเวลา ให้เป็นทางที่จะเจริญแก่บ้านเมือง” การ “แก้ไขธรรมเนียมการปกครองให้สมกับเวลา” นี้เป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ แม้กระทั่งปัจจุบันที่มีสถาบันและเครื่องมือต่างๆ ที่พร้อมกว่า การผลักดันหลายๆ ประการก็มักจะไม่สำเร็จ ดังนั้นแล้วยิ่งในรัชสมัยของพระองค์ที่ต้องเร่งสร้างชาติเราจึงน่าจะจินตนาการถึงความยากได้ว่ามากเพียงใด
การพัฒนานี้ [1] เราจะเห็นร่องรอยความพยายามของพระองค์ผ่านการก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และการพยายามสร้างผู้บริหารที่มีความสามารถในการจัดวางองค์กรทางการเมืองให้เป็นสมัยใหม่ โดยส่งพระราชโอรสไปศึกษายังต่างประเทศและนำความรู้กลับมาช่วยสยาม ดังนั้นกลุ่มพระราชโอรสของพระองค์ในยุคนี้เราอาจนับได้ว่าเป็น “รุ่นแรกแห่งการพัฒนา” ก็ว่าได้ แต่การเป็นรุ่นแรกนี้ก็มีความกังวลเกิดขึ้นเพราะการไปอยู่อาศัยในต่างประเทศเป็นเวลานานนั้นแม้แต่เจ้านายก็เป็นเรื่องใหญ่ ค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีผู้ดูแลแบบครั้งอยู่ในประเทศ ผู้ที่จะรับหน้าที่ดูแลนั้นมีเพียง พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (เปีย มาลากุล) และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เท่านั้น
การไปศึกษายังต่างประเทศนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงส่งพระราชโอรสที่มีพระชนมายุได้ 12 พรรษาขึ้นไป ประเทศที่เป็นอาณานิคมนั้นมักรับการศึกษาจากประเทศที่เป็นเจ้าอาณานิคม แต่สยามนั้นมิได้เป็นอาณานิคมจึงสามารถเลือกประเทศได้อย่างเสรี ดังเห็นว่าภายหลังนักศึกษาของสยามจะมีทั้งที่ไปภาคพื้นยุโรปและสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ในยุคของพระองค์นั้นจะทรงไปศึกษาที่อังกฤษเพราะในขณะนั้นอังกฤษมีความโดดเด่นอยู่มาก แต่ดังได้กล่าวไปว่าการศึกษายังต่างประเทศนี้มีค่าใช้จ่ายสูง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงกำชับให้ใช้จ่ายอย่างประหยัดดังมีพระราชดำรัสว่า
“เงินค่าที่จะใช้สอยในการเล่าเรียนกินอยู่นุ่งห่มทั้งปวงนั้น จะใช้เงินพระคลังข้างที่คือเงินที่เป็นส่วนสิทธิ์ขาดแต่ตัวพ่อเอง ไม่ใช้เงินที่สำหรับจ่ายราชการแผ่นดิน เงินรายได้นี้ฝากไว้ที่แบงค์ ซึ่งจะได้มีคำสั่งให้ราชทูตจ่ายเป็นเงินสำหรับเรียนวิชา… การซึ่งใช้เงินพระคลังข้างที่ ไม่ใช้เงินแผ่นดินอย่างเช่นเคยจ่ายให้เจ้านายและบุตรข้าราชการไปเล่าเรียนแต่ก่อนนั้น เพราะเห็นว่ามีลูกมากด้วยกัน การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้ เป็นหลักทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่น ๆ ด้วย เป็นของติดตัวอยู่ได้ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ ลูกคนใดที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดีหรือไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ก็จะต้องส่งไปเรียนวิชาทุกคนตลอดโอกาสที่จะเป็นไปได้ เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอกันทุกคน…. เงินทองที่จะใช้สอยในค่ากินอยู่นุ่งห่มหรือใช้สอยเบ็ดเสร็จทั้งปวง จงเขม็ดแขม่ใช้แต่เพียงพอที่อนุญาตให้ใช้ อย่าทำใจโตมือโตสุรุ่ยสุร่าย โดยถือตัวว่าเป็นเจ้านายมั่งมีมากหรือว่าพ่อเป็นเจ้าแผ่นดินมีเงินทองถมไป ขอบอกเสียให้รู้แต่ต้นมือว่าถ้าผู้ใดเป็นหนี้มาจะไม่ยอมใช้หนี้ให้เลย”
การส่งพระราชโอรสไปเรียนนี้พระองค์ยังได้กำชับว่าห้ามทิ้งภาษาไทย โดยพระองค์บังคับให้เขียนหนังสือกลับมาหาพระองค์อย่างน้อยเดือนละฉบับ หากเขียนอังกฤษยังไม่ได้ให้เขียนไทย หรือเมื่อเขียนภาษาต่างประเทศใดๆ ได้แล้ว ให้เขียนเป็นภาษาต่างประเทศกลับมาและคำแปลที่เป็นไทยแนบติดมาด้วย และยังย้ำพระราชโอรสทุกพระองค์เสมอว่าให้พากเพียรเรียนวิชาและประพฤติตนให้เรียบร้อยอย่าเกะกะวุ่นวาย ซึ่งสิ่งนี้เองน่าจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินในภายหลังสามารถไปได้อย่างราบรื่นมากกว่า และเราแทบไม่เคยได้ยินเรื่องเสื่อมเสียของพระราชโอรสเลย จึงนับได้ว่าการกำกับควบคุมและสัญญาใจนี้มีประสิทธิผลทีเดียว
ตลอดรัชสมัยของพระองค์นั้นมีพระราชโอรสเสด็จไปยังยุโรปทั้งสิ้น 20 พระองค์ ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
พระราชโอรสรุ่นโต
รุ่นนี้ศึกษายุโรปเมื่อ พ.ศ. 2428 มี 4 พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (จบบูรพคดีศึกษาที่ออกซ์ฟอร์ด และเศรษฐศาสตร์ที่สกอตแลนด์) พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (ศึกษาภาษาลาติน อังกฤษ ฝรั่งเศส และวิชากฎหมายที่ออกซ์ฟอร์ด สอบไล่ได้เกียรตินิยม) พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (จบอักษรศาสตร์ที่อังกฤษและฝรั่งเศส) พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (ศึกษาที่อังกฤษแล้วเสด็จไปศึกษาวิชาทหารที่เดนมาร์ก)
พระราชโอรสรุ่นกลาง
รุ่นนี้เสด็จไปศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2436-2451 ซึ่งทยอยไปเป็นรุ่น มี 13 พระองค์ คือ
- พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (จบนายเรือที่อังกฤษ)
- เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ศึกษาที่อีตัน และไปศึกษาทหารบกรวมถึงประวัติศาสตร์และกฎหมายที่ออกซ์ฟอร์ด)
- เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ (ศึกษาด้านทหารเช่นกันทั้งในอังกฤษและเยอรมนี)
- พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (จบเคมบริดจ์และโรงเรียน Chattam and Woolich สาชาวิชาวิศวกรรมทหาร และศึกษาต่อที่เยอรมนีวิชาวิศวกรรมรถไฟและการจัดการ และยังเสด็จไปศึกษาเรื่องทำนบกั้นน้ำและขุดคลองที่เนเธอแลนด์ด้วย)
- พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ (จบเศรษฐศาสตร์เกษตร)
- เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (ทรงจบศิลปศาสตร์ที่อังกฤษ และไปต่อด้านทหารที่รัสเซีย)
- สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย (ทรงศึกษาที่อังกฤษได้ 2 ปีก็ประชวรต้องกลับและสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้เพียง 17 พรรษา)
- เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร (จบรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่เคมบริดจ์)
- พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (จบทหารเรือ)
- พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (จบเศรษฐศาสตร์การเกษตร)
- พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์ (จบที่เคมบริดจ์)
- พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (ทรงจบวิชากฎหมาย การศึกษา และการแพทย์ที่เยอรมนี)
- เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ (จบการทหาร)
พระราชโอรสรุ่นเล็ก
กลุ่มนี้เสด็จศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2448 มีสามพระองค์ คือ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชวิกรม ทรงศึกษาวิชาทหารเรือและทหารบก แต่เมื่อกลับมายังสยามแล้วได้ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาต่อในสาขาการแพทย์ที่ Harvard ต่อมาคือ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ทรงศึกษาด้านอักษรศาสตร์และดนตรี และเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ทรงจบนายร้อยทหารที่อังกฤษ
ผลจากการส่งพระราชโอรสไปศึกษานั้น เมื่อเสด็จกลับมาแล้วการพัฒนาระบบราชการก็ได้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงทหารที่พระองค์เจ้าจิรประวัติทรงได้เริ่มสร้างกองทัพประจำการขึ้น แต่นอกจากด้านระบบราชการแล้ว ยังมีเรื่องการขยายโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งพระราชโอรสสองพระองค์ที่มีบทบาทอย่างมากคือ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรและพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เช่น พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ทรงเริ่มสั่งซื้อรถจักรดีเซลจากสวิตเซอร์แลนด์เป็นรถดีเซลแรกของเอเชีย จัดการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศและจัดตั้งบริษัทเดินอากาศ อีกด้านหนึ่งคือ กฎหมาย เกษตร การคลัง สาธารณสุขและการศึกษาซึ่งเป็นด้านที่เติบโตอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้ทรงปฏิรูประบบกฎหมายไทยให้เป็นสากล ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นมา หรือการเกษตรที่พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงผลักดันการเกษตรของสยาม และวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของพระองค์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางอย่างเรื่อง เกษตรกรรมในสยาม : บทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรสยาม
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเพียงสั้นๆ เท่านั้น เพราะผลงานของพระราชโอรสทุกพระองค์ยังมีอีกมาก ซึ่งพระราชโอรสทุกพระองค์ล้วนแต่มีบทบาททั้งสิ้นในการผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า การเป็นเจ้านายจึงมีหน้าที่ที่ต้องตระหนักในประเด็นนี้เสมอ พระราชโอรสรุ่นแรกนี้จึงเป็น “ปฐมบทแห่งทุนมนุษย์” ที่สำคัญยิ่ง และได้เบิกทางต่อมาให้สามัญชนทั่วไปได้ไปศึกษายังต่างประเทศผ่านทุนหลวงอีกด้วย
อ้างอิง :
[1] เรียบเรียงจาก สุภางค์ จันทวานิช, “รัชสมัยแห่งการสร้างทุนมนุษย์: พระราชกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อในยุโรป,” วารสารไทยศึกษา ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2561): 1-28.