‘กระจง’ สัตว์มหัศจรรย์โลกมลายู ในตำนานสร้างเมืองมะละกาและปัตตานี

กระจง หรือ กวางหนู เป็นสัตว์ในตระกูลกวางที่มีขนาดเล็กเท่าแมวตัวเขื่อง ๆ และถึงแม้ว่ามันจะไม่มีเขาเช่นเดียวกับกวางหรืออีเก้งผู้เป็นญาติ แต่กระจงกลับมีเขี้ยวที่งอกยาวออกมาจากปากซึ่งสามารถใช้เป็นอาวุธได้ในยามคับขัน แม้จะถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่แทบจะไม่มีอาวุธสำหรับป้องกันตัวเลย (หรือมี แต่ก็ป้องกันได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ) แต่กระจงกลับมีสิ่งอื่นที่ธรรมชาติมอบให้มาเพื่อชดเชยกับความเสียเปรียบดังกล่าว นั่นคือ ความปราดเปรียวว่องไวและความระวังระไว ที่ทำให้มันสามารถเอาชีวิตรอดจากภัยมาได้แทบทุกครั้ง

ชาวมลายูในสมัยโบราณ ทั้งในเมืองมะละกา ไทรบุรี และปัตตานี ต่างมีความเชื่อว่า กระจง (Pelanduk) เป็นสัตว์วิเศษที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าสัตว์อื่น แม้แต่เสือโคร่งซึ่งเป็นเจ้าป่าในดินแดนเขตร้อนชื้นของมลายู ยังต้องพ่ายแพ้ให้แก่กระจงในเรื่องของความมีไหวพริบ ดังปรากฏในเอกสาร ‘Hikayat Pelanduk Jenaka’ หรือ ‘ตำนานกระจงเจ้าปัญญา’ ที่เขียนขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นตำนานที่สรรเสริญความเป็นสัตว์วิเศษของกระจงในโลกมลายู และยังถือว่าเป็นงานวรรณกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งสำหรับโลกมลายูเลยทีเดียว [1] โดยเรื่องย่อมีอยู่ว่า

เจ้ากระจงตัวหนึ่งสามารถทำให้บรรดาสัตว์ในป่าเชื่อว่าตนนั้นมีพลังอำนาจวิเศษ โดยมันมักจะขึ้นกล่าวพูดแก่สัตว์ทั้งหลายบนจอมปลวก และด้วยความเชื่อว่ามันมีพลังวิเศษ เจ้ากระจงจึงสามารถทำให้บรรดาสัตว์ที่เคยเป็นศัตรูกันกลับมาสมัครสมานกัน ส่วนวานรซึ่งเป็นศัตรูของมันก็ถูกขับไล่ออกไปจากป่าจนหมดสิ้นด้วยการใช้เล่ห์เพทุบายของกระจง ท้ายที่สุดเจ้ากระจงตัวจ้อยจึงกลายเป็นเจ้าป่าโดยสมบูรณ์ ด้วยสติปัญญาของมันเอง

จากเรื่องข้างต้น จึงเชื่อกันว่าเอกสาร Hikayat Pelanduk Jenaka ของราชสำนักมะละกาและปัตตานีน่าจะนำเอาเรื่องอำนาจวิเศษด้านสติปัญญาของกระจงมาใช้ประกอบในการเล่าเรื่องตำนานการสร้างเมืองของตน ดังที่ ‘Sejarah Melayu’ (พงศาวดารมลายู) ซึ่งเป็นเอกสารของราชสำนักมะละกา-ยะโฮร์ ที่เขียนขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 (ก่อนปัตตานีเป็นร้อยปี) ได้กล่าวไว้ว่า ขณะที่รายาอิสกันดาร์ (พระเจ้าอเล็กซานเดอร์) ปฐมกษัตริย์แห่งมลายูได้ลี้ภัยจากสิงคโปร์เพื่อมาหาทำเลที่ตั้งเมืองแห่งใหม่พร้อมกับบรรดาผู้ติดตาม เมื่อคณะได้เดินทางมาถึงริมฝั่งแม่น้ำบาตัม (Bartam) หนึ่งในสุนัขล่าสัตว์ของพระองค์ได้เห่าไล่ ‘กระจงเผือกตัวหนึ่ง’ ที่เข้ามา แต่กระจงเผือกตัวนั้นกลับต่อสู้จนสุนัขตัวนั้นต้องหนีลงแม่น้ำไป การนี้ทำให้รายาพอพระทัยมากเพราะกระจงตัวนั้นช่าง ‘กล้าหาญเสียเหลือเกิน’ พระองค์จึงมีพระบัญชาให้สร้างเมือง ณ จุดที่พบกระจกเผือกตัวนี้ และให้ตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า ‘มะละกา’ [2]

แม้แต่ ‘Hikayat Patani’ (ฮิกายัต ปตานี) เอกสารชั้นต้นที่ถือว่าเป็นพงศาวดารของราชสำนักปัตตานี ซึ่งเขียนขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็ยังปรากฏเรื่องราวในทำนองเดียวกันนี้ หรือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการหยิบยืม ‘พล็อต’ กระจงเผือกมาจาก ‘Sejarah Melayu’ (พงศาวดารมลายู) เลยก็ว่าได้ โดยใน Hikayat Patani เล่าเรื่องเอาไว้ว่า พญาท้าวนักปา (พญาตูนักปา) กษัตริย์แห่งเมืองโกตามหลิฆัย (Kota Maligai) ได้ออกไปล่าสัตว์กับบรรดาผู้ติดตาม จนมาพบเข้ากับกระจงเผือกตัวใหญ่ขนาดเท่าแพะที่มีลักษณะงดงามมาก แต่กระจงตัวนั้นกลับหายตัวไป พญาท้าวนักปาจึงตรัสถามเหล่ามุขมนตรีผู้ติดตามว่า ‘กระจงตัวนั้นหายไปไหนเสียแล้ว ?’ มุขมนตรีจึงตอบว่า ‘Pantai – ini หรือ ปันตัย อินิ’ (แปลว่า หาดแห่งนี้แหละ) พระองค์จึงเห็นว่านี่เป็นนิมิตรหมายที่ดี จึงสั่งให้ย้ายเมืองจากโกตามหลิฆัยมาสร้างเมืองใหม่ที่ ‘ปันตัย อินิ’ ซึ่งในเวลาต่อมาได้เพี้ยนมาเป็น ‘ปะตานี’ หรือ ‘ปตานี’ (ส่วน ‘ปาตานี’ เป็นคำใหม่ที่ถอดเสียงสำเนียงมลายูโบราณมาอย่างผิด ๆ ) [3] [4]

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ‘พล็อต’ ในการเล่าเรื่องความมหัศจรรย์ของกระจกเผือกของทั้งราชสำนักมะละกาและปัตตานีนั้นแทบจะเหมือนกัน กล่าวคือ กษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ใช้นิมิตหมายเกี่ยวกับกระจงเผือกเป็นสัญญาณในการตัดสินพระทัยย้ายราชธานีมายังจุดใหม่ตามที่กระจงนั้นได้ปรากฏตัวและหายไป หากแต่การตั้งชื่อเมืองมะละกานั้นไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกันกับการหายไปของกระจง รายาอิสกันดาร์ (พระเจ้าอเล็กซานเดอร์) ปฐมกษัตริย์แห่งมลายู ทรงใช้เพียงแค่สถานที่ที่กระจงเผือกหายตัวไปสำหรับการตั้งเมืองมะละกาเท่านั้น ส่วนปัตตานีกลับใช้ทั้งเหตุการณ์ที่กระจงหายตัวไป พร้อมทั้งสถานที่เกิดเหตุมาผูกร้อยเป็นเรื่องจนเป็นที่มาของชื่อเมืองปัตตานี (ปตานี/ปะตานี)

ประเด็นที่น่าสนใจคือ Hikayat Patani ได้อธิบายเรื่องตำนานของชื่อเมืองปัตตานีในลักษณะที่เป็นการตอบโต้ Sejarah Melayu โดยเน้นว่าตำนานของชื่อเมืองปัตตานีเกี่ยวข้องกับเรื่องกระจงที่หายตัวไป มากกว่าจะเป็นการตั้งชื่อเมืองตามชื่อของ ‘เจ๊ะ ตานี’ (Encik Tani) ตามที่ Sejarah Melayu ได้อธิบายถึงตำนานเมืองปัตตานีเอาไว้ในพงศาวดารมะละกา ว่า ‘ปัตตานี’ หรือ ‘ปตานี/ปะตานี’ มาจากชื่อของบุคคลที่ชื่อว่า ‘ป๊ะตานี’ (Pak Tani) ซึ่งก็คือคนเดียวกันกับ ‘เจ๊ะ ตานี’ ที่ถูกกล่าวถึงใน Hikayat Patani นั่นเอง ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว Sejarah Melayu ถูกเขียนและเรียบเรียงขึ้นก่อน Hikayat Patani เป็นเวลากว่าร้อยปี และยังเชื่อกันว่าเป็นต้นแบบหรือแบบแผนการเขียนของราชสำนักปัตตานีอีกด้วย

การที่ปัตตานีหยิบยืม ‘พล็อต’ กระจงขาวที่หายตัวไปจากมะละกาที่เขียนขึ้นมาก่อนมาใช้ และยังโจมตีว่าการตั้งชื่อเมืองปัตตานีตาม ‘เจ๊ะตานี’ ดังที่หลายคนเชื่อในเวลานั้น ‘ไม่เป็นความจริง’ [5] ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงมองว่าหากจะศึกษา Hikayat Patani ให้ลึกซึ้งถ่องแท้ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะศึกษาแยกขาดจาก Sejarah Melayu เพราะเอกสารชั้นต้นของมลายูทั้งสองชิ้นนี้ต่างก็มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน อีกทั้ง  Hikayat Patani ยังได้ตอบโต้โดยพยายามกล่าวเป็นนัยว่า Sejarah Melayu กล่าว ‘ความเท็จ’ เกี่ยวกับที่มาของชื่อปัตตานี ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า Hikayat Patani เป็นเอกสารจากมุมมองและปากคำของชาวปัตตานี ที่น่าจะมีนัยของความคิดทางการเมืองสอดแทรกอยู่ และยังรอให้มีการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

อ้างอิง :

[1] The wily Malay mousedeer
[2] John Leyden. Malay Annuals (Sejarah Melayu). 1821. pp. 89
[3] A. Teeuw and D.K. Wyatt. Hikayat Patani. 1970. Pp. 147-148.
[4] ประวัติเมืองปัตตานี ฉบับแปลถวายรัชกาลที่ 7 (2471).
[5] A. Teeuw and D.K. Wyatt. Hikayat Patani. 1970. Pp.148.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า