‘กบฏผีบุญอีสาน’ ขบวนการหลอกลวงในคราบวีรบุรุษ
เมื่อไม่นานมีนี้ มีการพยายามปลุกกระแสประวัติศาสตร์ ระหว่างรัฐส่วนกลางกับท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือปลุกระดมมวลชนจากฝ่ายการเมืองกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพยายามสร้างความรู้สึกเกลียดชังและต่อต้านรัฐไทย (รัฐบาลส่วนกลาง) ให้กับประชาชน
ฝ่ายการเมืองกลุ่มนี้ได้นำกระแสประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 เช่น กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏผู้มีบุญอีสาน หรือ กบฏแขก 7 หัวเมือง มาบิดเบือนและกล่าวโจมตีราชสำนัก โดยเอาความจริงแค่เศษเสี้ยวบางส่วนมาขยายปนดราม่า จนทำคนในท้องถิ่นนั้นๆ เกิดความรู้สึกคล้อยตาม และเคียดแค้นรัฐบาลกรุงเทพฯ รวมถึงขยายความรู้สึกเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะ “เจ้าชีวิต” ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย
ผลจากการปลุกระดมครั้งนี้ ทำให้ประชาชนบางส่วนออกมาแสดงความเห็นถึงขั้นต้องการให้ปลดแอกภาคอีสาน ออกจากประเทศไทยไปเลยก็มี ซึ่งการปลุกระดมเช่นนี้ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 1 อย่างแน่นอน
การบิดเบือนของกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นการใช้อคติความเกลียดชังมาตัดสินและดำเนินเรื่องราวประวัติศาสตร์ ทำให้เหตุการณ์ที่ “จบไปแล้วในอดีต” ถูกนำมาผลิตซ้ำด้วยมุมมองอันบิดเบือนและตีความอย่างสมัยใหม่ ซึ่งไม่ตรงกับบริบททางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ เอาบริบทปัจจุบันไปสวมทับกับบริบททางประวัติศาสตร์
สำหรับกรณี “กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน” เมื่อปี พ.ศ. 2444 หรือสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 นั้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของกระบวนการปลุกระดมทางการเมืองด้วยบาดแผลทางประวัติศาสตร์
โดยกลุ่มจัดตั้งทางการเมืองดังกล่าว พยายามอธิบายว่า กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน เมื่อปี พ.ศ. 2444 นั้น เกิดจากการลุกฮือของชาวบ้านท้องถิ่นอีสาน เพื่อต่อต้านศักดินาและอำนาจรัฐไทย แต่เมื่อดูจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และงานศึกษาค้นคว้าทั้งไทยและต่างประเทศ จะพบว่า เรื่องราวเหล่านี้เป็นการโกหกอย่างบิดเบือนทั้งสิ้น
อันที่จริงแล้ว การก่อกบฏในอีสานช่วงนั้น เป็นความพยายามต่อต้านของพวกศักดินาท้องถิ่น เพื่อผลประโยชน์และฐานอำนาจการเมืองของตนเอง พวกขุนนางท้องถิ่นเหล่านี้ได้ร่วมมือกับพระสงฆ์บางรูป อ้างพระพุทธศาสนามาบิดเบือนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่พรรคพวกตนเอง ด้วยการอ้างว่าเป็น “ผู้มีบุญ” เพื่อต่อต้านการเก็บภาษีของรัฐบาลกรุงเทพฯ
พวกขบวนการผู้มีบุญเหล่านี้ เบื้องหลังเป็นพวกขุนนางลาว/ข่า ในระบอบศักดินาโบราณ ที่ยังไม่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ การปกครอง หากแต่ขับเน้นเรื่องอภินิหารและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในการหลอกลวงชาวบ้านไปวันๆ
ทั้งนี้ การบิดเบือนว่ากบฏผู้มีบุญภาคอีสาน เป็นการพยายามในการต่อต้านรัฐไทยหรือรัฐบาลกรุงเทพฯ เป็นการต่อสู้ของผู้ที่ถูกกดขี่และแสวงหาความเท่าเทียม ข้อมูลเหล่านี้ย่อมไม่เป็นความจริง
จากการค้นคว้าของ จอห์น เมอร์ดอค (John Murdoch) นักวิชาการชาวต่างประเทศ พบว่าแท้จริงแล้ว กบฏผู้มีบุญภาคอีสานเป็นขบวนการของพวกขุนนางลาว/ข่า กลุ่มเดียวกัน (โดยเฉพาะพวกจากแคว้นจำปาศักดิ์) แต่ขบวนการเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่อาณาเขตภาคอีสานของไทยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงดินแดนอาณานิคมอินโดนจีน (ลาว) ของฝรั่งเศสด้วย โดยคาดกันว่าเริ่มต้นมาจากทางดินแดนลาวของฝรั่งเศส ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำโขงแพร่เข้ามาในสยาม โดยกลุ่มกบฏได้เคลื่อนไหวไปมาระหว่างดินแดนสยามและฝรั่งเศส เพื่อหนีการไล่ติดตามของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในแต่ละห้วงเวลา
สำหรับขบวนการผู้มีบุญอีสานในประเทศไทย เริ่มขึ้นจากกระแสการปฏิรูปราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2435 เป็นต้นมา ทั้งเรื่องพระราชบัญญัติการเลิกทาส ที่ทำให้พวกขุนนางลาว/ข่า ต้องสูญเสียอำนาจศักดินาโบราณในการควบคุมไพร่ทาสในสังกัดมูลนาย รวมไปถึงการปฏิรูประบอบภาษีและการคลัง ที่ทำให้ชาวบ้านต้องเสียภาษีโดยตรงแก่รัฐบาลในรูปแบบตัวเงิน (ค่ารัฐชูปการ) ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดอำนาจของพวกเจ้าศักดินาท้องถิ่นลง จากเดิมที่ขุนนางศักดินาท้องถิ่นเหล่านี้เคยเสวยสุขด้วยการขูดรีดส่วยและอากรโดยที่ไม่มีระบบจดบันทึกและการทำบัญชี ซึ่งเป็นเทคนิคของรัฐสมัยใหม่ในการปกครอง ขุนนางเหล่านี้จึงสามารถขูดรีดชาวบ้านได้ตามใจ โดยไม่มีการตรวจสอบจากข้าหลวงส่วนกลางแต่อย่างใด
และเมื่อทางรัฐบาลกลางตัดสินใจดำเนินการปฏิรูปการคลังท้องถิ่นและส่วนกลางเสียใหม่ ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ระบบเงินตราอย่างรัฐสมัยใหม่ ทำให้ขุนนางท้องถิ่นเหล่านี้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนเป็นเหตุให้พวกเขาต้องสร้างเรื่องโกหกหลอกลวงราษฎร ให้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลตั้งแต่นั้น
นอกจากนั้น ในช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนแปลงจากระบบส่วยที่เป็นสิ่งของมาเป็นเงินตรา ชาวบ้านภาคอีสานในเวลานั้นยังมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก ห่างไกลจากศูนย์กลางตลาดระบบเงินตราเช่นกรุเทพฯ ทำให้พวกเขาไม่มีเงินตราหมุนเวียนในมือนอกจากสินค้าทางการเกษตรหรือของป่าเท่านั้น และเมื่อมีการเก็บภาษีเป็นตัวเงินขึ้น ชาวบ้านเหล่านี้จึงเกิดความเดือดร้อนเพราะไม่ทราบว่าจะต้องไปหาเงินมาจากที่ไหน ช่องว่างระหว่างการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ จึงกลายเป็นข้ออ้างอันโอชะของพวก “ขบวนการผีบุญ” ที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2430 เอามาใช้ประโยชน์ในการปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้านรัฐไทยได้ง่ายขึ้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การใช้ประโยชน์จากความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านในการปลุกระดม พวกขบวนการผีบุญได้แต่งกลอนหมอลำ หรือกระทั่งการเขียนหนังสือใบลานแจกจ่ายไปทั่วภาคอีสานในสมัยนั้น โดยแต่งเรื่องอุปโลกน์หลอกลวงชาวบ้านขึ้นว่า …
“กลางปี พ.ศ. 2444 นี้ โลกจะเข้าสู่ช่วงกลียุค เกิดอาบัติเภทภัยไปทั่ว หมูและควายเผือกจะกลายเป็นยักษ์จับกินคน หินแร่ (หินลูกรัง) จะกลายเป็นทอง รากไม้จะกลายเป็นเส้นไหม ฟักเขียวจะกลายเป็นช้าง แต่เงินทองของมีค่าที่ชาวบ้านมีอยู่จะกลายสภาพเป็นของไม่มีค่า”
นอกจากนั้น ยังมีการทำนายถึงการปรากฏตัวของผู้มีบุญ ซึ่งจะกลายมาเป็นผู้ช่วยให้รอด (ทำนอง savior ของตะวันตก เช่น พระเยซูในศาสนาคริสต์) ซึ่งชาวบ้านจะต้องเชื่อฟังผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้มีบุญ ผู้มีอำนาจวิเศษจากสรวงสวรรค์เหล่านี้ หากใครไม่เชื่อฟัง ก็จะมีแต่ความฉิบหายเกิดขึ้นกับตนและครอบครัว
คำทำนายเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อจิตใจของชาวบ้านอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากโลกทัศน์ของชาวบ้านในสมัยนั้น ผูกติดอยู่กับความเชื่อเรื่องบาปบุญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างแน่นแฟ้น การอ้างว่าหากไม่เชื่อฟังคำทำนายดังกล่าวก็จะเกิดความฉิบหาย กลายเป็นตัวเร่งเร้าให้ชาวบ้านเอาใจช่วยฝ่ายขบวนการผู้มีบุญอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีรายงานว่าหากใครไม่เชื่อฟัง ก็จะถูกคนในขบวนการทำร้ายฆ่าฟันถึงแก่ความตาย
นอกจากนั้น คำทำนายอันเหลวไหลเหล่านี้ ยังได้ทำร้ายชาวบ้านจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัวด้วยเช่นกัน เพราะผู้มีบุญได้แนะนำให้ชาวบ้านฆ่าหมูและควายเผือก อันเป็นสัตว์เลี้ยงที่สามารถนำไปขายเป็นตัวเงินเสีย เพราะอ้างว่า ถ้าไม่ฆ่าต่อไปหมูและควายก็จะกลายเป็นยักษ์กินคน หรือกระทั่งการนำหินลูกรังมาใส่ไหบูชา สิ่งเหล่านี้เป็นการทำให้ชาวบ้านทั้งสิ้นเนื้อประดาตัวและโง่งมงาย เพราะมัวแต่นอนรอคอยให้เทพเสกหินให้กลายเป็นทอง ไม่คิดจะทำมาหากินแต่อย่างใดเลย
ถ้าจะพูดให้ชัด ลายแทงหรือกลอนหมอลำของพวกขบวนการผีบุญ ก็คือจดหมายลูกโซ่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงชาวบ้าน และทำร้ายระบบเศรษฐกิจของชุมชนอย่างมหันต์ หากชาวบ้านคนใดปฏิบัติตามคำทำนายของขบวนการผู้มีบุญ ย่อมไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาจะกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว จนต้องคอยหวังพึ่งและติดสอยขบวนการผีบุญไปด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมขบวนการผีบุญจึงมีชาวบ้านสนับสนุนและเข้าร่วมด้วยกว่าหลักหลายพันคนในช่วงก่อนการปะทะกับกองทัพสมัยใหม่ของรัฐบาลในช่วงปี พ.ศ. 2444
จะเห็นได้ว่า การใช้ “ความเชื่อและความศรัทธา” ของชาวบ้านมาเป็นเกราะกำบังความทะเยอทะยาน รวมทั้งสร้างผลประโยชน์ให้กับพวกขุนนางท้องถิ่นที่ไร้ความสามารถพวกนี้ คือหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวของกบฏผีบุญอีสาน ดังนั้น ทางเดียวที่จะกำราบพวกผู้มีบุญได้ นั่นก็คือการปลูกฝังข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อที่ “ความจริง” จะทำให้ชาวบ้านประจักษ์แก่สายตาว่า ผู้วิเศษเหล่านี้แท้จริงแล้วไม่ใช่ผู้มีบุญอย่างที่แอบอ้างแต่อย่างใด หากแต่เป็นแค่ขบวนการหลวงลวงที่อยู่ในคราบของวีรบุรุษจอมปลอมเท่านั้น
อ้างอิง :
1. สายสกุล เดชาบุตร. กบฏไพร่หรือผีบุญ : ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของราษฎรกับอำนาจรัฐเหนือแผ่นดินสยาม. (กรุงเทพฯ : 2555). สำนักพิมพ์ยิปซี.
2. เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ. 121. (กรุงเทพฯ : 2551). สำนักพิมพ์มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ละมนุษยศาสตร์.
3. John Murdoch . Millennialism, Charisma and Utopia: Revolutionary Potentialities in Pre-modern Lao and Thai Theravāda Buddhism.
4. John B. Murdoch . The 1901-1902: Holy Man’s Rebellion ( 1974)