‘กบฏบวรเดช’ ตอนที่ 1 การต่อสู้ที่ไม่ได้ต้องการทวงคืนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

กรณีประวัติศาสตร์ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีการเผยแพร่กันต่อมาว่า “เหตุการณ์กบฏบวรเดชนั้น คณะกู้บ้านกู้เมือง มีความประสงค์ที่จะล้มล้างรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงให้สยามกลับไปปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นเดิม” แต่จากการศึกษาเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์กลับพบว่า คณะกู้บ้านกู้เมืองที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ไม่ได้มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใด เป็นเพียงแต่ต้องการให้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาปกครองสยาม แทนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเท่านั้น ส่วนสาเหตุของการเกิดกบฏบวรเดชที่สำคัญนั้น มีอยู่อย่างน้อย 2 ประเด็น กล่าวคือ

  1. พระเกียรติยศของในหลวงถูกย่ำยี

กรณีนี้ ต้นเรื่องมาจากการที่ผู้นำราษฎรระดับล่างไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมภายในสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำระดับล่างบุคคลนี้คือนายถวัติ ฤทธิเดช กล่าวคือ หลังจากที่นายถวัติฯ ได้อ่านเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ และพระราชบันทึกวิจารณ์เค้าโครงการนั้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 แล้ว

นายถวัติฯ ได้ยื่นเรื่องฟ้องในหลวงรัชกาลที่ 7 ต่อศาล เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2476 โดยข้อกล่าวหาคือ พระราชบันทึกมีข้อความหมิ่นประมาทกลุ่มผู้นำกรรมกร ผลจากการยื่นฟ้องดังกล่าว ศาลไม่อาจประทับรับฟ้องได้ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นายถวัติฯ จึงได้ยื่นเรื่องต่อไปที่สภาผู้แทนราษฎรให้ทำการตีความรัฐธรรมนูญ

สภาฯ ได้มีการประชุมกันเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2476 มีความเห็นว่าศาลได้ทำถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ต่อศาลกระทำมิได้ หากจะฟ้องร้องต้องฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลแทน ทั้งนี้ ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรยังมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการทางการเมืองให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย

โดยประเด็นนี้ได้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุการณ์คณะกู้บ้านกู้เมืองก่อกบฏขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเหตุการณ์กบฏบวรเดชได้สงบลง หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณและผู้นำของฝ่ายรัฐบาลได้เข้าทำการไกล่เกลี่ย โดยให้นายถวัติฯ เข้ากราบขอพระราขทานอภัยโทษต่อในหลวงรัชกาลที่ 7 ด้วย

  1. การปกครองภายใต้รัฐบาลคณะราษฎร ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างที่กล่าวอ้าง

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลุ่มเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ถูกกีดกันให้อยู่นอกวงการเมือง กล่าวคือ ในช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์กบฏบวรเดช ได้มีการประชุมกันเป็นการลับล่วงหน้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2476 แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็ได้แสดงบทบาทในทางก้าวร้าวและข่มขู่การเคลื่อนไหวนั้น โดยกลุ่มนายทหารหนุ่มคือหลวงพิบูลสงครามกับหลวงศุภชลาศัย ทั้งสองได้ทำหนังสือร่วมกัน ทั้งที่ประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์และส่งตรงถึงบุคคลต่างๆ คือ พระองค์เจ้าบวรเดช พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ หม่อมเจ้าฉัตรมงคลโสณกุล หม่อมเจ้าโสภณภราไดย สวัสดิวัฒน์ หม่อมเจ้าไขแสง รพีพัฒน์ หม่อมเจ้าวงศ์นิรชน เทวกุล พระยาศราภัยพิพัฒ พระยาอธิกรณ์ประกาศ และนายหลุย คีรีวัต โดยมีการระบุคำเตือนถึงบุคคลเหล่านี้ว่า …

“ได้มีการประชุมและคิดกันอยู่เสมอในอันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง … จึงขอเตือนให้สงบจิตต์เสีย หากท่านยังจุ้นจ้านอีก คณะก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง”

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวในส่วนนี้ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่อาจป้องกันหรือระงับยับยั้งได้ และเมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เดินทางกลับประเทศในปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2476 และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีลอยในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการเริ่มเลือกตั้งผู้แทนตำบล รวมทั้งเป็นช่วงเดียวกับที่ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาเรื่องการที่ศาลไม่รับการยื่นฟ้องในหลวงรัชกาลที่ 7

ฝ่ายเจ้านายกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงได้มีการประชุมกลุ่ม “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ในขั้นสุดท้ายที่จังหวัดนครราชสีมา และที่ประชุมได้ตัดสินใจให้คณะกู้บ้านกู้เมืองลงมือปฏิบัติการในช่วงต้นเดือนตุลาคมนั้นโดยทันที

หัวหน้าคณะนำโดย นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร ที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่และทหารช่างจากประเทศอังกฤษ ทรงเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกประจำนครราชสีมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะทรงเป็นอัครราชทูตของสยามประจำทวีปยุโรปในเวลาต่อมา และในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์เจ้าบวรเดชทรงกลับมารับราชการทหารใหม่ และทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในสมัยรัชกาลที่ 7 พระองค์จึงทรงได้รับขนานนามว่า เป็นทั้งนักการทหารและนักการทูตซึ่งเข้าใจความเป็นไปในทางการเมืองต่างๆ เป็นอย่างดี

ผู้นำในอันดับรองลงมาของคณะกู้บ้านกู้เมือง ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหารและพลเรือน ฝ่ายทหารมีนายพลตรี 3 คน รวมทั้งนายพลตรีพระยาเสนาสงคราม (อี๋ นพวงศ์) อดีตผู้บัญชาการกองพลที่หนึ่งรักษาพระองค์ในระบอบเก่า และมีนายพันเอก 6 คน รวมทั้งนายทหารยศนายพันเอกสายเสนาธิการคนสำคัญชื่อ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศเยอรมัน เป็นผู้ที่พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ชักชวนเข้าร่วมกับกลุ่มคณะราษฎรตั้งแต่ต้น แต่พระยาศรีสิทธิสงครามตอบปฏิเสธ และในช่วงปลายสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีสิทธิสงครามได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบกแทนพระยาทรงสุรเดชซึ่งได้ขอลาออกไป

หนังสือของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองฉบับแรก ซึ่งยื่นเข้ามาถึงฝ่ายรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2476 ลงนามโดยพระยาศรีสิทธิสงคราม มีความแจ้งแก่ฝ่ายรัฐบาลว่า …

“ด้วยบรรดากองทหารบกซึ่งตั้งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ รวมทั้งกองทหารบก ทหารเรือ ส่วนมากในพระนคร และทหารอากาศด้วย ได้ทราบพฤติการณ์ของรัฐบาลขณะนี้อย่างแน่ชัดว่า เพิกเฉยให้คนพาลสันดานหยาบหมิ่นหลู่ดูแคลนพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยท่านได้จัดการเรียกหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับคืนมายังประเทศสยามโดยมิได้ซักฟอกให้ขาวสะอาดก่อน ดังที่ได้แถลงการณ์ให้ราษฎรทราบไว้ในชั้นเดิมนั้น จึงหวาดหวั่นและกริ่งเกรงไปว่า ในกาลอนาคตของประเทศสยามอาจกลับกลายได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ แทนที่จะปราบคอมคอมมิวนิสต์ดังที่ได้ประกาศไว้กลับสนับสนุนคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้น คณะกู้บ้านกู้เมือง คือทหารบก และทหารเรือ และทหารอากาศ และพลเรือน จึงมีสมานจิตต์พร้อมใจกันร่วมคิดเป็นเอกฉันท์ มอบฉันทะให้ข้าพเจ้าแจ้งต่อคณะรัฐมนตรีของท่านให้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง ขอให้ท่านตอบต่อผู้แทนของข้าพเจ้าว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ภายใน 1 ชั่วโมง ถ้าท่านยอมปฏิบัติตาม คณะกู้บ้านกู้เมืองก็จะได้เข้ารับจัดการปกครองประเทศชั่วคราวจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่”

ฝ่ายรัฐบาลเองนั้น นับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา ก็มีความวุ่นวายและไม่เป็นปึกแผ่นเอกภาพอยู่มาก เนื่องด้วยพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดราชบุรี ส่วนพระยาทรงสุรเดชกับคณะได้เดินทางไปราชการต่างประเทศ และยังไม่มีทีท่าว่าจะเดินทางกลับมาช่วยฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด นอกจากนี้ สายสืบของฝ่ายรัฐบาลซึ่งขึ้นไปตรวจเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา แต่สวนทางกับกองทหารของพระองค์เจ้าบวรเดช จึงถูกฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองจับกุมไว้ทั้งหมด

ในสถานการณ์ขั้นวิกฤตินี้ ปรากฏว่ามีนายทหารรุ่นหนุ่มของคณะราษฎรจำนวนหนึ่ง ได้ตัดสินใจทำการสู้รบโดยไม่ยินยอมประนีประนอมกับฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง คนกลุ่มนี้ประกอบด้วย นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม นายพันตรีหลวงอำนวยสงคราม นายร้อยเอกหลวงกาจสงคราม นายร้อยเอกหลวงเกรียงศักดิ์พิชิต นายร้อยเอกหลวงอดุลเดชจรัส นายร้อยโทขุนเรืองวีรยุทธ์ และนายร้อยโทขุนปลดปรปักษ์ เป็นต้น

ดังนั้น ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาเดินทางกลับกรุงเทพฯ และได้รับหนังสือยื่นคำขาดจากตัวแทนของพระยาศรีสิทธิสงครามแล้ว คำตอบที่ฝ่ายพระยาพหลพลพยุหเสนาแจ้งแก่ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองคือ รัฐบาลไม่อาจยอมต่อข้อเรียกร้องใดๆ ของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ เนื่องจากกลุ่มของหลวงพิบูลสงครามยืนกรานว่าฝ่ายรัฐบาลต้องทำการต่อสู้และปราบปราม โดยฝ่ายรัฐบาลได้จัดตั้งกองกำลังผสมพิเศษขึ้น มีหน้าที่ปราบคณะกู้บ้านกู้เมือง ทั้งนี้ มีนายพันโทหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บัญชาการ รวมทั้งมีประกาศกฎอัยการศึกออกมาในวันเดียวกัน โดยประกาศใช้เฉพาะในเขตมณฑลทหารบกกรุงเทพฯ และอยุธยาเท่านั้น

ส่วนการระดมพลของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองต้องอาศัยเวลาอยู่บ้าง เนื่องด้วยกองกำลังทหารเดินทางมาจากหลายที่ เข้าใจว่านายทหารชั้นผู้ใหญ่คงต้องใช้กลอุบายหลอกล่อนายทหารระดับล่างในทำนองว่า ให้เคลื่อนพลเข้ามาเพื่อปราบพวก “คอมมิวนิสต์” ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นตัวแทนของความคิดและความน่ากลัวในเรื่องดังกล่าว ดังใจความในหนังสือร้องทุกข์ของนายทหารระดับนายร้อยเอกคนหนึ่ง ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช โดยมีความตอนหนึ่งกล่าวว่า …

“ข้อสำคัญที่ทำให้เกิดแตกร้าวอย่างใหญ่หลวง จนเป็นเหตุนองเลือดและต้องเสียชีวิตเช่นชาติเดียวกันคราวที่แล้วมานี้ เนื่องด้วยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับคืนแดนสยาม ซึ่งขณะนั้นมีเสียงลือว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง จะได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เหล่านี้เป็นต้น ปวงชนต่างหวาดเกรงว่าจะบังเกิดลัทธิคอมมูนิสต์ยิ่งขึ้น ความพรั่นกลัวซึ่งกำลังระอุอยู่แล้วเป็นเวลานานเลยเกิดระเบิดในที่สุด”

จากการที่รัฐบาลในขณะนั้นมิได้ดำเนินการบริหารประเทศในรูปแบบของประชาธิปไตยตามที่กล่าวอ้าง มีทั้งการตัดตอนยึดอำนาจรัฐบาลเดิม รวมถึงการเชิญปรีดี พนมยงค์ กลับประเทศหลังลี้ภัยชั่วคราวกรณีถูกต่อต้านร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นชนวนเหตุให้เกิด “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ขึ้น เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้นลาออกและคืนประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประชาชน

ในตอนต่อไป พบกับข้อเรียกร้อง 6 ประการของคณะกู้บ้านกู้เมือง รวมถึงปฏิกิริยาตอบรับของรัฐบาล และท่าทีของในหลวงรัชกาลที่ 7 ในขณะนั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่จะนำมาใช้พิจารณาได้ถึงมูลเหตุที่มาที่ไปของเหตุการณ์การต่อสู้ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

[‘กบฏบวรเดช’ ตอนที่ 2 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเลือก ‘เป็นกลาง’ บนสถานการณ์ที่ยากลำบากในความขัดแย้งทางการเมือง]

ที่มา :

[1] หจช.สร.0201.8/16
[2] หจช.สร.0201.1.1/1
[3] หจช.สร.0201.1.1/25 ร้อยเอกขุนเริงรณชัย กราบทูลราชเลขาธิการในพระองค์

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า