“กฎหมายตราสามดวง” ปฐมบท Rule of Law แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หลังจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระองค์ทรงริเริ่มพระราชกรณีกิจมากมายหลายด้าน ที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับไพร่ฟ้าประชาชน กล่าวคือ ทรงให้ความสำคัญเรื่องความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน มากกว่าความงดงามของวัดวาอาราม พระราชวังและป้อมปราการ ซึ่งเป็นคุณธรรมแห่งพระมหากษัตริย์ในยุคแห่งการก่อตั้งราชธานีใหม่ จากหลักฐานที่ปรากฎในกฎหมายตราสามดวงว่า
“รักพระสาศนาอนาประชาราษฎร ยิ่งกว่าพัศดุเงินทองร้อยเท่าพันทวีอีก”
หลักฐานนี้ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในการให้ความสำคัญแก่การปฏิรูปบ้านเมืองในด้านกฎหมาย โดยกฎหมายตราสามดวงถือเป็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ ที่สะท้อนถึงความยุติธรรมของพระมหากษัตริย์ได้เป็นอย่างดี
สาเหตุของการชำระกฎหมาย และการรวบรวมตัวบทกฎหมายต่างๆ ในสมัยของรัชกาลที่ 1 ปรากฏอยู่ในเอกสารสำคัญ คือ “ประกาศพระราชปรารภ” โดยกล่าวว่า ในรัชสมัยของพระองค์ ได้เกิดคดีอำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง โดยที่นายบุญศรีสามีมิได้มีความผิด แต่อำแดงป้อมนั่นเองที่ประพฤติไม่สมควร คบชู้ด้วยนายราชาอรรถ แต่พระเกษมซึ่งทำหน้าที่ผู้พิพากษาในคดีนี้กลับเข้าข้างอำแดงป้อม ซ้ำยังพูดจาเกี้ยวพาราสีอำแดงป้อม จึงตัดสินให้อำแดงป้อมหย่ากับนายบุญศรีได้ โดยอ้างว่าหญิงสามารถหย่าขาดจากชายได้แม้ชายมิได้มีความผิด ซึ่งเป็นตัวบทที่ปรากฎอยู่ใน “กฎหมาย ณ สานหลวง” รวมทั้งฉบับ “หอหลวง” และ “ข้างที่” ความว่า “ชายหามิผิดได้หญิงขอหย่าท่านว่าเปนหญิงหย่า ชายหย่าได้ถูกต้อง”
ด้วยเหตุนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 1 จึงมีพระราชดำริว่า ตัวบทกฎหมายเช่นนี้ไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะผู้ชำระกฎหมายขึ้น จำนวน 11 คน ประกอบด้วยอาลักษณ์ 4 คน, ลูกขุน 3 คน และราชบัณฑิต 4 คน รวมเป็น 11 คน โดยคณะผู้ชำระชุดนี้ได้ชำระกฎหมายต่างๆ สำเร็จตามพระราชประสงค์ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 11 เดือน
วิธีการชำระกฎหมาย ณ ขณะนั้น คือ ให้นำตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด มาตรวจสอบเนื้อความจัดเป็นหมวดหมู่ ชำระข้อความที่ฟั่นเฟือน ปราศจากความยุติธรรมออกเสีย แล้วจึงเติมถ้อยความที่สมควรลงไป คำว่า “การชำระกฎหมาย” นั้น อาจกินความหมายดังนี้ด้วยว่า …
“หมายถึงการทำให้บริสุทธิ์ การทำให้บริสุทธิ์อาจรวมไปถึง การชำระตัวบทกฎหมายให้ถูกต้อง ในขณะเดียวกันอาจหมายถึง การชำระหลักการให้ถูกต้องด้วย ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึงการชำระให้สอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา”
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมตัวบทกฎหมายอื่นๆ อีก เช่น กฎพระสงฆ์ พระราชบัญญัติ และพระราชกำหนดใหม่ โดยเป็นการเพิ่มเข้ามาเพื่อปรับให้สอดคล้องกับอุดมคติของสังคมในสมัยนั้น ซึ่งก็คือหลักการของพระพุทธศาสนา
ในการชำระประมวลกฎหมายฉบับนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 1 ได้ทรงให้ปิดดวงตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว ไว้ด้านบนทุกปก และทรงกำชับด้วยว่า …
“… หากมีการพิจารณาคดีความใดๆ ซึ่งต้องอ้างอิงตัวบทกฎหมาย หากกฎหมายที่นำมาอ้างไม่มีตราทั้งสามดวงนี้ อย่าให้ผู้ใดเชื่อเป็นเด็ดขาด …”
ด้วยเหตุนี้ประมวลกฎหมายดังกล่าวจึงเรียกกันว่า “กฎหมายตราสามดวง”
กฎหมายตราสามดวง ถือได้ว่าเป็นประมวลกฎหมายที่มีโครงสร้างและองค์ประกอบครบถ้วนที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ซึ่งประกอบด้วยประมวลพระราชกำหนดบทพระอัยการในเรื่องต่างๆ ทั้งการปกครองและบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนบังคับให้บุคคลปฏิบัติตนตามระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยกันเอง และบุคคลกับรัฐ
จะเห็นได้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงแสดงให้เห็นถึงการปกครองที่ยึดถือหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ซึ่งก็คือการปกครองที่ยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ กล่าวคือ แม้จะทรงเห็นว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับคดีนั้นไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานตอนใดตามประกาศพระราชปรารภ ว่าทรงใช้พระราชอำนาจแก้ไขกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา หรือตำหนิลงโทษตุลาการที่ตัดสินไปตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่ในทางกลับกัน ทรงเร่งทำการชำระกฎหมายที่คลาดเคลื่อนเสียใหม่ เพื่อให้ตรงกับหลักความยุติธรรมตามพระธรรมศาสตร์เท่านั้น
ข้อสังเกตเพิ่มเติมประการหนึ่งที่สำคัญคือ การผูกโยงพระราชกรณียกิจด้านการชำระกฎหมายไปพร้อมๆกับด้านการศาสนาด้วย กล่าวคือ ทรงให้เริ่มมีการศึกษาพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตรากฎหมายคณะสงฆ์เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย โปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบพระปริยัติธรรม และได้สถาปนา พระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์
การชำระกฎหมายและจัดระเบียบด้านศาสนาที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งของในหลวงรัชกาลที่ 1 คือ การปรับเปลี่ยนบทบาทของรัฐต่อการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ที่เป็นโบราณราชประเพณีแต่โบราณให้มีความเหมาะสมขึ้น
จากกรณีเมื่อข้าราชการไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ก่อนการทำความเคารพพระรัตนตรัย ในพิธีถือน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า การทำความเคารพสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาควรเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดก่อนพระบรมรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ พระองค์จึงทรงปรับเปลี่ยนให้มีลำดับการเคารพเสียใหม่ โดยให้เคารพพระรัตนตรัยก่อน เป็นเสมือนการปรับสถานะอันสูงสุดของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ใต้อานุภาพของพระพุทธศาสนา อีกนัยหนึ่งคือ เป็นการเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับฐานะของพระมหากษัตริย์ที่เคยศักดิ์สิทธิ์ดุจเทพให้ลงมาทัดเทียมกับพุทธศาสนิกชนอื่นๆ
และอีกเหตุผลหนึ่งคือ จากความวุ่นวายในช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง ถึงช่วงก่อนการสถาปนากรุงเทพฯ ได้ผลักดันให้ผู้คนมีชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอนที่ต้องเสี่ยงทั้งจากภัยสงครามและความไม่ปลอดภัยต่างๆ การหันไปเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความงมงายทั้งหลายจึงกลายเป็นเรื่องปกติในสมัยนั้น ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงแก้ปัญหาและนำพระพุทธศาสนามาปรับเข้าอย่างลงตัว โดยทรงประกาศพระราชกำหนด ในวันพุธเดือน 9 ขึ้น 13 ค่ำ พ.ศ. 2325 ความตอนหนึ่งว่า …
“… สัตว์โลกทั้งปวงทุกวันนี้ ปฏิบัติผิดจากพระไตรสรณาคมจะไปสู่อบายภูมิทังสี่เสียเป็นอันมาก … ครั้นมีทุกข์ขึ้นมานำจิตนั้นก็ผันแปรไปจากพระรัตนะตะยาธิคุณไปถือผีสางเทพารักษต่างต่าง ที่น้ำใจดีเป็นพหูสูตรนั้นถึงจะนับพระภูมิเจ้าที่เทพารักษนั้น ก็ถือเอาแต่โดยจิตคิดว่าเป็นมิตรสหายที่ป้องกันอันตราย มิได้คิดว่าประเสริฐกว่าพระรัตน์ตะยาธิคุณมิได้แต่เพียงนี้ พระไตรสระณาคมก็ยังมิได้ขาด … ครั้นทุกข์บังเกิดมีเพราะกามของตนแต่หลังมิได้แจ้ง ก็เข้าว่าตนถือพระรัตนตยาธิคุณช่วยไม่ได้ เสียน้ำใจ ก็ละพระรัตนตยาธิคุณเสีย ไปถือภูมิเทพารักผีสางต่างต่าง พอสิ้นกรรมจะพ้นทุกข์ก็เข้าใจว่า ภูมิเทพารักษ์ผีสางที่ตนนับถือนั้นว่าประเสริฐกว่าพระรัตนตรัยฉะนี้ … ครั้นจะห้ามเสียไม่ให้ถือผีสางเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์เล่า ก็มีพระพุทธฎีกาตรัสไว้ในสัตบริยหารริยธรรมเจ็ดประการ อันจะให้บ้านเมืองสมบูรณ์ขึ้นว่า ให้สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าบำรุงเทพารักษ์ในกรุงเทพมหานคร …”
จากข้อความข้างต้นถือได้ว่าพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถด้านพระพุทธศาสนามาก โดยได้อ้างถึงหลักการในพระสูตรเรื่องอปริหานิยธรรม นำมาปรับใช้กับประชาชนที่ยังประสบทุกข์อย่างไม่ขัดใจจนเกินไป
ทรงใช้เหตุผลนี้กับสถานการณ์ที่ถือได้ว่า เป็นช่วงที่พสกนิกรของพระองค์กำลังประสบความทุกข์ทั้งการอพยพย้ายถิ่น ความตื่นตระหนก และหวาดกลัวจากสงครามที่ยังไม่สิ้น โดยการใช้พระพุทธศาสนาเป็นแกนนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อปลอบประโลมใจให้กับประชาชนทั้งหลาย แต่การจะเข้าใจและถือปฏิบัติในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องนั้น จำเป็นต้องมีการกลั่นกรองในเรื่องความเชื่อผิดๆ รวมทั้งการตรวจสอบความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ และความถูกต้องบริสุทธิ์ของพระไตรปิฎก ซึ่งพระองค์ทรงตระหนักว่า สิ่งเหล่านี้คือกิจของรัฐที่ต้องเอาใจใส่ ดังที่ได้ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงนั่นเอง
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการยึดหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ของในหลวงรัชกาลที่ 1 โดยมีการชำระตัวบทกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา ตามความเหมาะสมของบริบทในสมัยนั้น และประการสำคัญ ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าสู่ยุคใหม่ ทั้งในแง่ความเท่าเทียมในฐานะพุทธศาสนิกชน และความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับประชาชนอีกด้วย
ที่มา :
[1] อาทิตย์ ศรีจันทร์, วรรณกรรมคำสัตย์สาบานในกฎหมายตราสามดวง
[2] พงษ์ณรินทร์ ศรีประเสริฐ, กฎหมายตราสามดวงกระบวนการตรวจสอบความเป็นจริงในคดีอาญา
[3] พระราชกำหนดใหม่ กฎหมายตราสามดวง
[4] ราชบัณฑิตยสถาน